ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการตรวจวินิจฉัยผ่านการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย :

ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการตรวจวินิจฉัยผ่านการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เซลล์ปกติในลำไส้ใหญ่เกิดการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนจนไม่สามารถควบคุมได้ การเจ็บป่วยระยะแรกจึงอาจเป็นเพียงแค่ก้อนหรือติ่งเนื้องอกธรรมดาในลำไส้ แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้และไม่รีบเข้ารับการรักษา เซลล์ดังกล่าวอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ จึงเป็นแนวทางป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่เชิงรุกที่สามารถลดอัตราการสูญเสียจากการเจ็บป่วยได้


รู้จักการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) จึงเป็นการตรวจหาความผิดปกติของภายในลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง




โดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ควรทำในผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้

  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
  • ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก
  • มีการแน่นอึดอัดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้องร่วมด้วย
  • มีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย
  • ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุกๆ 3-5 ปี

วิธีการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

สำหรับวิธีการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยจะนอนตะแคงข้างหรือนอนหงายในขณะตรวจ โดยแพทย์จะค่อยๆ สอดกล้องเข้าไปในลำไส้ พร้อมตรวจผิวภายในลำไส้อย่างละเอียด การส่องกล้องจะสิ้นสุดเมื่อถอนกล้องออกมา โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที ซึ่งรวมกับเวลาเตรียมตัว การตรวจ กระทั่งออกมาพักฟื้นที่ห้อง รวมแล้วใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สามารถส่องกล้องได้ทั้งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์จะแนะนำการตรวจวิธีอื่นๆ ในการตรวจส่วนลำไส้ใหญ่ในส่วนที่ไม่สามารถสอดกล้องเข้าไปได้


กรณีที่ตรวจพบตรวจพบความผิดปกติ

แพทย์จำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มโดยการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านกล้องเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัย โดยชิ้นเนื้อจะเป็นเพียงเยื่อบุผิวขนาดเล็กแค่เพียงพอต่อการวินิจฉัยเท่านั้น ถ้าหากตรวจพบติ่งเนื้อ (Polyps) ซึ่งก็คือ เยื่อบุลำไส้ที่งอกเติบโตผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่ดีไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งติ่งเนื้อจะมีขนาดรูปร่างและชนิดต่างๆ กันไป โดยแพทย์จะตัดติ่งเนื้อออกทั้งหมดเพื่อช่วยการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากนั้นนำติ่งเนื้อไปตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาอีกครั้ง



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

โรคของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ

  • ระยะแรก มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณผิวของผนังลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่สอง มะเร็งเริ่มกระจายสู่ผนังลำไส้ใหญ่ โดยการทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง
  • ระยะที่สาม มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่สี่ มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูกเป็นต้น

โดยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ นั่นคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น อาหารประเภทให้ความหวานมันมากๆ และทานผักผลไม้น้อยเกินไป อีกทั้งสภาวะแวดล้อมที่หลายๆ คนต้องเผชิญ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออีกปัจจัยอีกหนึ่งคือพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ทั้งยังสามารถแยกเนื้องอกที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็งได้ ซึ่งแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองทั้งผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุ 45 ปี เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางลำไส้ใหญ่มากที่สุด

โดยจากสถิติพบว่าผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ครั้งแรก ส่วนใหญ่มักเป็นระยะลุกลามแล้ว แต่ในปัจจุบันพบว่าการส่องกล้องเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมกับการตัดติ่งเนื้อออก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่กว่าครึ่งเลยทีเดียว ดังนั้นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถวินิจฉัยภาวะเลือดออกทางเดินอาหารหรือผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังได้อีกด้วย


ผลข้างเคียงจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

ในส่วนของผลข้างเคียงจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ อาจรู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด หรือง่วงนอนหลังจากทำการตรวจ และอาจมีเลือดออกขณะที่ลำไส้มีการเคลื่อนไหวในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตามควรรีบพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • มีอาการปวดรุนแรง
  • มีเลือดออกจำนวนมากหรือเลือดออกเป็นก้อน
  • ร่างกายอ่อนเพลีย
  • วิงเวียนศีรษะ

ทั้งนี้ นอกจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงจากการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องส่อง เช่น มีเลือดออก ลำไส้ใหญ่ทะลุ การตอบสนองต่อยาระงับความรู้สึก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก


การเตรียมตัวก่อนการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  • ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใย
  • รับประทานยาระบายให้ตรงตามจำนวนและเวลา ตามที่แพทย์สั่ง
  • ควรดื่มน้ำ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ
  • คืนวันก่อนตรวจ ให้งดอาหาร และน้ำดื่ม จนกว่าจะทำการตรวจเสร็จ

การปฏิบัติตัวภายหลังการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

  • สังเกตอุจจาระ อาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำจะไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ จึงต้องมีญาติคอยดูแลสังเกตอาการ
  • ห้ามขับรถหรือทำงาน เกี่ยวกับเครื่องจักร หรืองานที่ต้องใช้การตัดสินใจ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ แนวทางป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการตรวจวินิจฉัยผ่านการส่องกล้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแพทย์แนะนำว่าสำหรับผู้มีความเสี่ยงเนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อมีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ และควรเข้ารับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำแบบรายบุคคลต่อไป



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย



Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย