พัฒนาการเด็ก เรื่องที่ควรให้ความสนใจ เพื่อให้ลูกเติบโตสมวัย
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก
บทความโดย : พญ. พิชยา พูลสวัสดิ์

พัฒนาการเด็กเป็นกระบวนการเรียนรู้และเติบโตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และภาษา การส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ แต่ยังวางรากฐานที่แข็งแรงสำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในอนาคต รวมไปถึงการติดตาม และประเมินพัฒนาการอย่างเป็นระบบ การส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย จากกุมารแพทย์เฉพาะทาง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันภาวะพัฒนาการล่าช้า ภาวะบกพร่องทางสมอง หรือโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว
สารบัญ
ทำไมพัฒนาการเด็กแต่ละวัยถึงมีความสำคัญ


พัฒนาการเด็กในแต่ละช่วงวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรากฐานของการเรียนรู้ การปรับตัว และการใช้ชีวิตในอนาคต พัฒนาการที่สมบูรณ์ในแต่ละขั้นจะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ การทำความเข้าใจพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ทำให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่
พัฒนาการเด็ก 5 ด้านมีอะไรบ้าง
พัฒนาการ (Development) คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามลำดับ ในด้านต่าง ๆ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และภาษา ทำให้มีความสามารถและทักษะเฉพาะ สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเด็ก โดยพัฒนาการเด็กจะแบ่งออกเป็น 5 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
- พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical Development) เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกาย กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และการทรงตัว รวมถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การเดิน วิ่ง กระโดด และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การหยิบจับ การเขียน เป็นต้น
- พัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development) เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การคิด การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล ความจำ ภาษา และความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- พัฒนาการด้านอารมณ์ (Emotional Development) เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก การรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น การสร้างความผูกพันทางอารมณ์
- พัฒนาการด้านสังคม (Social Development) เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับสังคม การเล่นกับเพื่อน การเรียนรู้กฎระเบียบ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- พัฒนาการด้านภาษา (Language Development) เกี่ยวข้องกับการเข้าใจภาษา การสื่อสาร การใช้คำพูด การสร้างประโยค และการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูด เช่น ท่าทาง หรือสีหน้า
พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร


พัฒนาการของเด็ก เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและมีลักษณะเฉพาะในแต่ละช่วงอายุ การเข้าใจพัฒนาการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็กได้อย่างเต็มที่
- พัฒนาการเด็กวัยทารกแรกเกิด - 1เดือน เป็นช่วงที่เด็กแรกเกิดเริ่มปรับตัวจากการอยู่ในครรภ์มาสู่โลกภายนอก พัฒนาการในระยะนี้เน้นที่ระบบประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวเบื้องต้น และการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว โดยเน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว เช่น เสียง แสง และสัมผัส เด็กจะเริ่มมองเห็นในระยะใกล้ ขยับแขนขา และมีปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ตามธรรมชาติ เช่น สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง ใช้การร้องไห้เป็นวิธีสื่อสารความต้องการ ต้องการความอบอุ่นจากการกอดอุ้มอย่างสม่ำเสมอ และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
- พัฒนาการทารก 1-12 เดือน ด้านร่างกาย เริ่มต้นจากการพลิกคว่ำพลิกหงาย คลาน นั่ง และบางคนอาจเริ่มเดินได้ในช่วงปลายวัย รวมถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหยิบจับสิ่งของได้ดีขึ้น ด้านสติปัญญา เด็กจะเรียนรู้ผ่านการสำรวจสิ่งรอบตัว จดจำใบหน้า เข้าใจเหตุผลอย่างง่าย ๆ และเริ่มเข้าใจคำสั่งพื้นฐาน ด้านอารมณ์และสังคม เด็กทารกจะเริ่มยิ้ม หัวเราะ แสดงความดีใจหรือวิตกกังวลเมื่อแยกจากผู้ดูแล และเริ่มเล่นง่าย ๆ กับผู้อื่นได้ ด้านภาษา จากการส่งเสียงอ้อแอ้ไปสู่การเลียนเสียง ออกเสียงพยางค์ซ้ำ ๆ และเริ่มพูดคำแรกที่มีความหมาย
- พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะช่วงอายุ 1-3 ปี ด้านร่างกาย เดินได้คล่อง วิ่ง ปีนป่ายได้ดีขึ้น สามารถใช้มือหยิบจับสิ่งของได้ซับซ้อนขึ้น เช่น ต่อบล็อก เปิดหน้าหนังสือ ด้านสติปัญญา เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ทำตามได้ เริ่มใช้จินตนาการในการเล่น จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ด้านอารมณ์และสังคม ชอบทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น (เป็นตัวของตัวเอง) แสดงอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น เช่น โกรธ หงุดหงิด เริ่มเล่นกับเพื่อ ด้านภาษา เด็กเล็กจะพูดเป็นวลีและประโยคสั้น ๆ ได้ ใช้คำศัพท์ได้มากขึ้น สื่อสารความต้องการได้ชัดเจน
- พัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 3-5 ปี ด้านร่างกาย ควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น สามารถกระโดด วิ่ง สลับขา ขึ้นลงบันไดได้เอง ใช้กรรไกรได้ วาดรูปง่าย ๆ ได้ ด้านสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสูง ชอบถามคำถาม เรียนรู้ผ่านการเล่นบทบาทสมมติ เข้าใจแนวคิดเรื่องสี รูปทรง จำนวน ด้านอารมณ์และสังคม เริ่มเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่ม แบ่งปันของเล่น แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ ด้านภาษา ใช้ประโยคที่ซับซ้อนขึ้น เล่าเรื่องได้ พูดคุยสื่อสารได้คล่องแคล่ว มีคำศัพท์เพิ่มขึ้นมาก
- พัฒนาการเด็กวัยเรียน ช่วงอายุ 5-12 ปี ด้านร่างกาย กล้ามเนื้อแข็งแรงและประสานงานกันได้ดีขึ้น สามารถเล่นกีฬาที่ซับซ้อนได้ พัฒนาทักษะการเขียนและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ด้านสติปัญญา มีความคิดเชิงตรรกะและเหตุผลมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องนามธรรมได้ เข้าใจกฎเกณฑ์และกติกา ด้านอารมณ์และสังคม สร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งกับเพื่อน มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ด้านภาษา ใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วและเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถอ่าน เขียน และทำความเข้าใจข้อความที่ซับซ้อนได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก
พัฒนาการเด็กได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย ทั้งจากภายในและภายนอก ได้แก่
- พันธุกรรม มีส่วนกำหนดพื้นฐานทางด้านร่างกาย สติปัญญา และแนวโน้มทางอารมณ์บางอย่าง
- โภชนาการ สารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง
- สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูที่อบอุ่น ปลอดภัย มีการกระตุ้นที่เหมาะสม รวมถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ
- สุขภาพและการเจ็บป่วย สุขภาพที่ดีช่วยให้พัฒนาการเป็นไปตามปกติ การเจ็บป่วยเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการได้
- การเล่นและการเรียนรู้ การเล่นเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในวัยเด็ก ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
- ความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ความผูกพันที่มั่นคงและอบอุ่นกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลหลักเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงพัฒนาการเด็กที่ล่าช้า
- ด้านร่างกาย อาทิ ไม่สามารถชันคอได้ตามวัย ไม่พลิกคว่ำพลิกหงาย ไม่นั่ง ไม่คลาน ไม่ยืน หรือไม่เดินได้ตามเกณฑ์ และกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกหรือไม่สมดุล
- ด้านสติปัญญา อาทิ ไม่สบตา ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อ ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และไม่เล่นสมมติ
- ด้านภาษา อาทิ ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่เปล่งเสียงเลียนแบบ ไม่พูดคำเดี่ยว ๆ และไม่พูดเป็นวลีหรือประโยคสั้น ๆ ตามวัย
- ด้านสังคมและอารมณ์ อาทิ ไม่ยิ้มตอบ ไม่เล่นกับผู้อื่น ไม่แสดงความผูกพัน ไม่สนใจของเล่น และมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ
พัฒนาการเด็กล่าช้าต้องทำอย่างไร?
หากสังเกตพบสัญญาณเตือนของพัฒนาการที่ล่าช้า สิ่งสำคัญคือต้อง ปรึกษาแพทย์ หรือกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการเด็กโดยเร็วที่สุด แพทย์จะทำการประเมินพัฒนาการอย่างละเอียด และให้คำแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึง
- การกระตุ้นพัฒนาการ ผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็ก
- การบำบัดฟื้นฟู เช่น กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด (แก้ไขการพูด) กายภาพบำบัด
- การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู การจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านหรือโรงเรียน
- การวินิจฉัยหาสาเหตุ หากสงสัยว่ามีสาเหตุทางการแพทย์ ควรมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยและรักษาที่ต้นเหตุ
บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาลนครธน


ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลพัฒนาการเด็กในทุกช่วงวัย ดังนี้
1. กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ตรวจรักษาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่อาจผิดปกติ เด็กอ้วน เด็กผอม เด็กที่มีการเจริญเติบโตไม่สมวัย (ตัวเตี้ย/เล็ก) เป็นหนุ่มสาวเกินวัยภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนผิดปกติ โตก่อนวัย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์
2. กุมารแพทย์เฉพาะทางพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ให้บริการตรวจติดตามพัฒนาการเด็กแบบองค์รวม พร้อมให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรม เช่น ปัญหาการเรียน สมาธิสั้น เด็กติดหน้าจอ พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่ง หรือซนเกินวัย โดยทีมสหวิชาชีพทำงานร่วมกันเพื่อดูแลเด็กอย่างครบถ้วน
- กระตุ้นพัฒนาการ โดยนักกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าปกติ เช่น ยังไม่เดิน จับดินสอไม่เป็น ไม่เข้าสังคม หรือมีปัญหาทางกล้ามเนื้อมัดเล็ก/ใหญ่ รวมทั้งเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น ไม่นิ่ง
- ฝึกแก้ไขการพูด สำหรับเด็กพูดช้า ไม่พูด พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาการออกเสียง เช่น พูดติดอ่าง
- บริการจิตวิทยาเด็ก ประเมิน IQ (เชาวน์ปัญญา) และ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) พร้อมรายงานวิเคราะห์ผลเพื่อใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสม
พัฒนาการเด็กตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม เติบโตอย่างมีความสุข
การเข้าใจพัฒนาการเด็กในแต่ละวัยจะช่วยให้เราสามารถดูแลและสนับสนุนพวกเขาได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีความสุข แข็งแรง และพร้อมเผชิญโลกกว้างด้วยความมั่นใจ หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อให้ได้รับการประเมินและการช่วยเหลือที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนครธน มีทีมกุมารแพทย์เฉพาะทาง (หมอเด็ก) พร้อมให้บริการ เพราะพัฒนาการ การเจริญเติบโตของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ หากร่างกายเติบโตไม่ปกติ มีภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ให้เราดูแลตั้งแต่แรกเริ่ม และพร้อมส่งเสริมพัฒนาการ IQ และ EQ เพื่อศักยภาพที่ดีของลูกน้อย
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพเด็ก