อันตรายจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจกลายเป็นอัมพาตได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม

อันตรายจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจกลายเป็นอัมพาตได้

ปวดหลังเรื้อรัง รุนแรง อย่าทน! นั่นอาจเป็นสัญญาณหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ รีบมาพบแพทย์ ซึ่งอาการปวดหลัง ปวดคอ โดยปกติจะสามารถทุเลาได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีปวดหลังร้าวลงขา มีอาการขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกควบคุมขาไม่ค่อยได้ หรือการไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้ ซึ่งอันตรายมาก หากปล่อยไว้นานๆ ไม่สนใจ อาจลุกลามกลายเป็นอัมพาตได้ ทั้งนี้ สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพหลังออนไลน์ได้โดยส่งข้อมูลข้างล่างได้เลย



โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอันตรายอย่างไร

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ กัน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ หลังเป็นประจำ อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจากการชอบก้มหลังพร้อมบิดตัว หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ จนทำให้เกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลัง และจะค่อยๆ ดันตัวและปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง

ซึ่งในอดีตจะพบโรคนี้ในวัยสูงอายุบ่อย แต่ในปัจจุบันกลับพบมากขึ้นในวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ยอมลุกขยับไปไหน นั่งอยู่ท่าเดียวตลอดทั้งวัน และพฤติกรรมการนั่งทำงานแบบนี้ จะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัวจนไปเบียดทับเส้นประสาท

เมื่อกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัว หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาจนไปเบียดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความรู้สึกชาบ่อยๆ บริเวณขา น่อง และเท้า คล้ายเหน็บชา หรือตะคริวถี่ๆ บางครั้งเป็นจนไม่สามารถเดินต่อได้ หนักเข้าอาจรุนแรง อันตรายถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าไม่ขึ้น บางคนก็ควบคุมการขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะได้ลำบากขึ้น

> กลับสารบัญ


ความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่ทำให้เกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. กระดูกสันหลังเสื่อม ทรุด เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของข้อต่อ หรือ หมอนรองกระดูกสันหลัง ได้แก่
    • จากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก โดยจะเริ่มจากการที่ส่วนประกอบที่เป็นน้ำในหมอนรองกระดูกลดลง ทำให้การรับน้ำหนักเสียไป เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ อาจเกิดการฉีดขาดของหมอนรองกระดูกด้านนอก ทำให้เจลที่อยู่ตรงกลางของหมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนออกมาจากรอยฉีกขาด ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
    • เกิดจากการเสื่อมของข้อต่อ Facet ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในข้อกระดูกสันหลัง จนทำให้ร่างกายพยายามขจัดความไม่มั่นคงของข้อกระดูกสันหลังสร้างกระดูกขึ้นมาเป็นลักษณะกระดูกงอก และเมื่อมีกระดูกงอกออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะไปกดทับเส้นประสาทได้
  2. กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ มักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และ 5 ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลังตรงระดับบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ข้างใดข้างหนึ่งร่วมด้วย เนื่องจาก มีภาวะของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรืออาจจะเคยยกของแล้วปวดหลังทันที มักปวดมากเวลาก้มหรือนั่ง หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งถ่าย หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาตามมาได้
  3. กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ทำให้มีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็นซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังส่งผลให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไขสันหลัง มักทำให้มีอาการปวดคอร้าวลงแขน หรือมีอาการอ่อนแรงและชาร่วมด้วย โดยจะพบบ่อยในผู้สูงอายุที่เกิดจากการใช้งาน และความเสื่อมตามอายุ แต่ในปัจจุบันพบมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน

> กลับสารบัญ


ความรุนแรงของอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • ระยะเริ่มต้น เมื่อหมอนรองกระดูกเกิดความเสื่อมจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งในช่วงแรกอาจมีอาการเป็นๆ หายๆ จากนั้นระดับความเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาการจะเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ หากมีอาการแบบนี้ไม่ปล่อยไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • ระยะปานกลาง หากเริ่มมีอาการในระยะต้นแล้วปล่อยผ่าน สำหรับระยะนี้หมอนรองกระดูกจะเริ่มเคลื่อนและปลิ้นออกมา ทำให้เกิดอาการปวดร้าวหรือปวดหลังร้าวลงขา จากนั้นจะเริ่มลามไปที่ขาหรือเท้า ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการชาร่วมด้ว
  • ระยะรุนแรง เมื่ออาการกดทับเส้นประสาทเริ่มมีความรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวด ชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง เช่น มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ เป็นต้น และมีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและพิการ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาจเป็นอัมพาตได้

หากใครมีอาการดังกล่าว ไม่ควรปล่อยไว้ หรือไปรักษาผิดวิธี เพราะอาจจะทำให้รักษาได้ยากและใช้เวลานานขึ้น

> กลับสารบัญ




การตรวจวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

แพทย์จะสามารถวินิจฉัยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังที่ต้นเหตุได้

> กลับสารบัญ


แนวทางการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย หรือระดับการกดทับเส้นประสาท รวมถึงระยะเวลาของการเกิดอาการ โดยทั่วไปจะมีการรักษา 2 แบบหลักๆ คือ

1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • การรักษาแบบประคับประคอง การให้ยาลดอาการปวด ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของตัวเส้นประสาท และการทำกายภาพเพื่อให้หมอนรองกระดูกหดกลับเข้าไปได้ มักเป็นวิธีที่ใช้เริ่มต้นในการรักษา
  • การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นยาที่ผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังหรือใกล้กับบริเวณที่มีอาการปวด จะช่วยลดความปวดจากการอักเสบ และช่วยในการวินิจฉัยตำแหน่งที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดได้ การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
  • การลดอาการปวดหลังโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังและบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด

2. การรักษาแบบผ่าตัด

จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคอง ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ โดยวิธีการผ่าตัดจะแบ่งการรักาาตามโรคหรือภาวะที่เป็น และความรุนแรงที่เกิดขั้น ได้แก่

  • การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป จะทำในกรณีที่หมอนรองกระดูกปลิ้นหรือเคลื่อนออกมาเบียดทับเส้นประสาท การผ่าตัดจะทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคปความละเอียดสูงโดยสอดกล้องผ่านแผลเล็กๆ ทางผิวหนังเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่มีแผลผ่าตัดเล็ก ปวดแผลน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว


  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว หรือ TLIF จะรักษาในกรณีที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน เสื่อม หรือทรุด มีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง หรือมีอาการของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เช่น อ่อนแรง ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระ และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป โดยเป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะยึดตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กบนผิวหนัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัด ซึ่งทำให้ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากถึง 99%
  • การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า (ACDF) การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า (ACDF) กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ขนาดราว 3 ซม. ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง (Microscope) เพื่อคลายการกระดูกกดทับเส้นประสาทและไขสันหลังด้วยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน โดยอาจเป็นกระดูกเทียม หรือเป็นชิ้นส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองก็ได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจทำการยึดกระดูกเทียมด้วยสกรูเพื่อเสริมความแข็งแรงอีกด้วย

> กลับสารบัญ


หากมีอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง หรือมีอาการชา ขาอ่อนแรง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเริ่มป้องกันและค้นหาต้นตอสาเหตุโดยการเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาทางด้านกระดูกสันหลัง ถ้าปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ ปรึกษาปัญหาสุขภาพหลังออนไลน์ได้โดยคลิกส่งข้อมูลข้างล่างได้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย