
ทราบหรือไม่ว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นของทอดหรือของมันบ่อย ๆ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือ Gall stone คือ โรคนี้เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยที่สุด และไม่แสดงอาการอย่างแน่ชัด มีเพียงอาการปวดท้อง แน่นท้อง อืดท้องเพียงเท่านั้น หากไม่เคยรู้จักอาการของนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนอาจทำให้ปล่อยปละละเลยจนเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร มีความอันตรายอย่างไร ใครที่สามารถเป็นได้บ้าง แล้ววิธีรักษาที่ดีที่สุดคืออะไร ไปหาคำตอบกันได้เลย
สารบัญ
- นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร?
- ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- นิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุมาจากอะไร?
- อาการนิ่วในถุงน้ำดี เป็นอย่างไร
- การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี
- การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
- รู้จักการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง
- วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี
- วิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีต้องทำอย่างไร?
- นิ่วในถุงน้ำดี รู้ทัน ป้องกันได้ รักษาได้
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร?


นิ่วในถุงน้ำดี คือ การมีก้อนแข็งคล้ายหินเกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี ซึ่งโดยปกติน้ำดี สามารถสร้างได้จากตับ มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารไขมันโมเลกุลใหญ่ให้เป็นโมเลกุลเล็กลง จะไหลผ่านท่อน้ำดีไปเก็บสะสมอยู่ในถุงน้ำดี ถ้าเกิดความไม่สมดุลของเหลือน้ำดี ไขมันคลอเลสเตอรอลอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้เกิดการตกตะกอนในถุงน้ำดี เกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นมา
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วถุงน้ำดีมักพบในคนที่มี 4 ลักษณะหรือที่เราเรียกว่า 4F คือ Forty, Fertile, Fatty และ Female หรือแปลได้ว่า มักพบในผู้หญิง รูปร่างท้วมอายุ ประมาณ 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรหลายคน ซึ่งบางคน บังเอิญตรวจพบแม้ไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่มีลักษณะดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี 1-2 % ต่อปี และในปัจจุบันเราพบว่าคนเป็นนิ่วถุงน้ำดีมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยก้อนนิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
- ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stones) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของนิ่วในถุงน้ำดีทั้งหมด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลือง หรือเขียว เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในน้ำดี หรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบสารออกได้หมด
- ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าชนิดที่ เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD
นิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุมาจากอะไร?
นิ่วในถุงน้ําดี เกิดจากความไม่สมดุลของส่วนประกอบในน้ำดี ได้แก่ ไขมัน คอเลสเตอรอล กรดไขมัน และเกลือน้ำดี ตกตะกอนเป็นก้อนคล้ายก้อนหินเล็ก ๆ ในถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ให้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับเพื่อช่วยย่อยอาหารไขมัน นิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่ถ้าเกิดอาการ จะทำให้ปวดท้องรุนแรง มีไข้คลื่นไส้อาเจียนได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี อาทิ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์สามารถเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีและลดการบีบตัวของถุงน้ำดี การรับประทานอาหารไขมันสูง คอเลสเตอรอลสูง และใยอาหารต่ำ ยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคตับบางชนิด เป็นต้น
อาการนิ่วในถุงน้ำดี เป็นอย่างไร
นิ่วในถุงน้ำดี อาการเริ่มต้น นั้น โดยส่วนใหญ่ ช่วงแรกมักไม่เกิดอาการ และอาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดจุกแน่นท้อง ใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ท้องอืด อิ่มง่าย โดยเฉพาะกินอาหารมันๆ หลังอาหารมื้อใหญ่ แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการอักเสบของถุงน้ำดี จะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่องท้องส่วนบน หรือด้านขวา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนมีอาการปวดท้องแบบผิดปกติ นาน 2-3 ชั่วโมง โดยปวดร้าวไปสะบักขวาด้านหลังส่วนล่าง และถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม

การตรวจวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี


การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) เพื่อตรวจดูว่านิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งทำได้ง่าย ไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่นาน และทราบผลได้ทันที โดยก่อนมาตรวจนั้นต้องเตรียมตัวโดยการงดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิด ประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ เพราะหากรับประทานอาหารก่อนมาตรวจจะทำให้ถุงน้ำดีหดตัว ส่งผลให้เห็นถุงน้ำดีไม่ชัดเจน
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
ส่วนการรักษา วิธีได้ผลดีที่สุดนั่นคือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เปิดหน้าท้องด้วยวิธีมาตรฐาน เหมาะกับการรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่มีการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
- การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดแบบเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง มีข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวได้ไว แต่ทั้งนี้มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีการนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยป่วยมีอาการถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสที่จะรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องสำเร็จจะลดลง
รู้จักการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง


ในอดีตการผ่าตัดโรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่เพื่อเลาะเอาถุงน้ำดีออก โดยแพทย์ต้องตัดกล้ามเนื้อหน้าท้องด้านขวาบนก่อนที่จะเข้าไปในช่องท้อง ดังนั้นคนไข้จะเจ็บแผลมาก ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาหายใจ ซึ่งการหายใจตื้นที่ไม่เต็มปอดก็จะส่งผลให้ปอดแฟบ และปอดอักเสบในเวลาต่อมา แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) มารักษาได้ มีความปลอดภัย ช่วยลดการบาดเจ็บแผลหน้าท้อง ลดการติดเชื้อ แผลมีขนาดเล็ก คนไข้เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก
กระบวนการวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง
- การเตรียมตัวผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด
- การให้ยาสลบ ดมยาสลบระหว่างผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์
- การเจาะช่องท้อง สอดกล้อง เปิดแผลเล็กบริเวณสะดือ ใต้ชายโครงขวา 3-4 รู เพื่อสอดกล้องและเครื่องมือการผ่าตัด ศัลยแพทย์ผ่าตัดเลาะถุงน้ำดีออก
- การปิดแผล หลังจากนำถุงน้ำดีและเครื่องมือออก ศัลยแพทย์เย็บปิดแผล
ข้อจำกัดของการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง
สำหรับผู้ป่วยในบางภาวะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง คนที่เคยผ่าตัดและมีพังผืดในท้องมากๆ รวมถึงแพทย์และทีมงานจะต้องที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้องโดยเฉพาะ
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี


การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้แผลหายดี ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วมีวิธีดังนี้
- ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด
- การดูแลแผล รักษาความสะอาดและแห้งบริเวณแผล หลีกเลี่ยงการแกะแผลหรือเกาบริเวณนั้น
- รับประทานยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด หรือยาป้องกันกรดตามที่แพทย์จัดให้อย่างเคร่งครัด
- การรับประทานอาหาร เริ่มต้นกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ย่อยยาก เช่น อาหารทอด อาหารมัน เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ เนื่องจากร่างกายอาจยังปรับตัวกับการไม่มีถุงน้ำดีในการช่วยย่อยไขมันได้ไม่ดี กินอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ บ่อยครั้ง แทนการกินมื้อใหญ่
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกแรงมาก 2-4 สัปดาห์
- ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
วิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดีต้องทำอย่างไร?
การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพในหลายด้าน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดนิ่ว เช่น การควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารที่มีเส้นใย หรือไฟเบอร์ ทั้งจากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง งา และผัก ผลไม้ ไม่รับประทานธัญพืชขัดสี เช่น ข้าวขาว อาหารท้าจากแป้ง ขนมปังขาว เป็นต้น และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหากพบอาการผิดปกติให้เข้าพบแพทย์ทันทีไม่ควรปล่อยอาการทิ้งไว้
นิ่วในถุงน้ำดี รู้ทัน ป้องกันได้ รักษาได้
เนื่องจากอาการของนิ่วในถุงน้ำดี จะไม่พบอาการผิดปกติแสดงให้เห็นและมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็กร่างกาย ทั้งนี้หากผู้ป่วยตรวจสอบว่าตนเองมีการปวดจุก แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รวมถึงอาการปวดท้องต่อเนื่องนานหลายชั่วโมงหลังกินอาหาร อาจเป็นสัญญาณของนิ่วในถุงน้ำดีที่เริ่มก่อกวนร่างกาย แนะนำว่าไม่ควรชะล่าใจหรือปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะอาการเริ่มแรก โดยศูนย์ศัลยกรรม รพ.นครธน มีทีมแพทย์ และศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์ในการผ่าตัด ตลอดจนเครื่องมือในการตรวจ และรักษาที่ทันสมัย พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ การผ่าตัดผ่านทางกล้อง (Laparoscopic surgery) ที่มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวในระยะสั้น เพื่อตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรม