จะดีกว่าไหมถ้ารักษาโรคภูมิแพ้ได้โดยการฉีดวัคซีน?

ศูนย์ : ศูนย์ภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. วราลี ผดุงพรรค

จะดีกว่าไหมถ้ารักษาโรคภูมิแพ้ได้โดยการฉีดวัคซีน?

โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ แล้วมีปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นไวหรือมากกว่าคนปกติ หลักการรักษาโรคภูมิแพ้จึงเน้นที่ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และใช้ยาควบคู่กันไป ขณะเดียวกันสารก่อภูมิแพ้ทุกชนิดก็หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร และเชื้อรา จึงทำให้โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ไม่หายขาด แต่ก็มีวิธีการรักษาหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน (Allergen Immunotherapy) ส่วนขั้นตอนการรักษาจะเป็นอย่างไร? และมีข้อดีอย่างไรบ้าง? ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ


การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน

เป็นวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์วิธีหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์คือให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ได้เอง โดยใช้วัคซีนที่เตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ เช่น หากแพ้ไรฝุ่น ใช้วัคซีนไรฝุ่น แพ้สุนัข ใช้วัคซีนที่เตรียมจากขนหรือรังแคสุนัข แล้วฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนังบริเวณแขนของผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในช่วงแรกนาน 5-6 เดือน (Build up phase) ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ โดยจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณของวัคซีนทีละน้อยตามลำดับ จนได้ขนาดสูงสุดเท่าที่ผู้ป่วยจะรับได้ (Target dose) จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มระยะห่างของการฉีดวัคซีนออกไปเป็นทุกๆ 2, 3 และ 4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้ภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นคงระดับสูงอยู่ได้ตลอดเวลา และฉีดต่อเนื่องเดือนละครั้งนาน 3-5 ปี (Maintenance phase) จึงจะพิจารณาหยุดฉีดได้

> กลับสารบัญ


ผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

ผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) โรคหืดจากภูมิแพ้ (Allergic asthma) โดยพิจารณาในผู้ป่วย ดังนี้
    • ผู้ที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
    • ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคจากการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
    • ผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ได้
    • ผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาควบคุมอาการ
    • ผู้ป่วยที่มีความต้องการไม่อยากใช้ยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวนาน
  2. การแพ้แมลงชนิดรุนแรง (Hymenoptera anaphylaxis) ได้แก่ ผู้ที่โดนแมลงชนิดผึ้ง ต่อแตน หรือมดคันไฟต่อย แล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หมดสติ หายใจไม่ออก หน้าบวม มีผื่นทั้งตัว เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้หากโดนต่อยซ้ำอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานและลดความรุนแรงของการแพ้ลง
  3. โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis) ในรายที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงที่พบว่ามีการแพ้สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น รังแคสุนัข แมว และแมลงสาบ

> กลับสารบัญ


ข้อดีของการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

  1. เป็นการรักษาที่ต้นเหตุให้หายจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้โดยตรง เช่น กรณีผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่น การฉีดวัคซีนต่อไรฝุ่น จะทำให้ผู้ป่วยหายจากการแพ้ไรฝุ่นได้ ต่างจากการใช้ยารักษาที่เป็นการรักษาปลายเหตุ คือ ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
  2. อาการของโรคจะดีขึ้นประมาณร้อยละ 70-90 ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถ้าผู้ป่วยแพ้ไรฝุ่นมักได้ผลดี และขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย
  3. ในผู้ป่วยที่ตอบสนองดีสามารถหยุดยาที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้ทั้งหมด ส่วนในบางรายมีโอกาสลดยาที่ใช้ควบคุมอาการโรคภูมิแพ้และลดผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดจากยาที่ใช้ได้
  4. ผู้ที่มีอาการของโรคหืดร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การฉีดวัคซีนจะช่วยให้อาการของทั้งโรคภูมิแพ้และโรคหืดทุเลาลง
  5. รายที่มีอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้แต่ยังไม่มีอาการของโรคหืด การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้มีการศึกษาพบว่าช่วยลดโอกาสการเกิดเป็นโรคหืดในอนาคตได้

> กลับสารบัญ


ข้อควรระวังของการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

  1. มีโอกาสเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง (Systemic reaction) จากวัคซีนที่ฉีดได้เช่นเดียวกับการแพ้ยาฉีดชนิดอื่น โดยอาจก่อให้เกิดอาการผื่นทั่วตัว คันคอ ไอหรือหอบหืด ลมพิษ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน กล่องเสียงบวมเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ และอาจช็อคได้ ดังนั้น หลังการฉีดวัคซีนต้องสังเกตอาการที่โรงพยาบาล 30 นาทีทุกครั้ง
  2. มีโอกาสเกิดอาการบวม แดง ร้อน คัน ที่บริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้ (Local reaction)
  3. มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้วมากขึ้น เช่น คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา หอบ โดยมักพบในช่วงเริ่มต้นของการรักษาด้วยวัคซีน
  4. อาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน กว่าจะเห็นผลการรักษา และต้องฉีดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-5 ปี
  5. ต้องระมัดระวังในการรักษาในผู้ที่ใช้ยาบางประเภทเป็นประจำ เช่น ยารักษาโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง (Beta-blocker, ACEI)
  6. ในรายที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้ผลดี โดยได้ฉีดต่อเนื่องกันมาเกินระยะ 1 ปีแล้วและได้ตรวจสอบแก้ไขสาเหตุต่างๆจนแน่ใจแล้วว่าไม่มีข้อผิดพลาด แสดงว่าการรักษาโดยวิธีนี้ไม่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยรายนั้นจึงควรพิจารณาหยุดฉีดได้

> กลับสารบัญ


วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะทำให้โรคภูมิแพ้หายขาด หรือมีการแพ้สารก่อภูมิแพ้น้อยลง และดีขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่มีจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักจะมีภาวะเยื่อบุจมูกไวเกินร่วมด้วย อาจมีอาการคัดจมูกเมื่ออากาศเปลี่ยน แม้จะได้รับวัคซีนภูมิแพ้แล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

พญ.วราลี ผดุงพรรค พญ.วราลี ผดุงพรรค

พญ.วราลี ผดุงพรรค
กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ศูนย์ภูมิแพ้






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย