ทำอย่างไร “เมื่อลูกรักมีไข้”

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย :

ทำอย่างไร “เมื่อลูกรักมีไข้”

เวลาเด็กไม่สบาย เป็นไข้ มักมีอาการตัวร้อนนำมาก่อน สำหรับผู้ใหญ่อาการตัวร้อนดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เด็กๆ อาจไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีพื้นที่ร่างกายน้อย การระบายความร้อนเป็นไปได้ช้า  แต่การสร้างความร้อนเกิดขึ้นเร็ว หากปล่อยให้ตัวร้อนจัด เด็กอาจชักเพราะไข้สูงได้ เพราะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบประสาทส่วนกลางยังเจริญไม่เต็มที่ หากมีการชักบ่อยๆ จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กและการทำงานของสมองในอนาคตได้ 

การดูแลเด็กเวลามีไข้มีมากมายหลายวิธี วิธีเช็ดตัวลดไข้เป็นวิธีที่บิดามารดาสามารถดูแลเบื้องต้นได้ สิ่งที่สำคัญคือบิดามารดาต้องเห็นความสำคัญและใส่ใจ มีเวลาให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กมีความสุขสบายและปลอดภัยจากภาวะไข้


วิธีการลดไข้

  1. การให้ยาลดไข้  เมื่ออุณหภูมิร่างกายเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ยาลดไข้ที่ดีที่สุด คือยาพาราเซตามอล เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ยาลดไข้จะออกฤทธิ์ลดไข้หลังรับประทานยา 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด 1 ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ส่วนยาจูนิเฟนมีผลดีในการลดไข้และป้องกันการชักจากไข้สูงได้ดีกว่าพาราเซตามอล แต่มีฤทธิ์ข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
  2. การเช็ดตัวลดไข้ ก่อนการเช็ดตัว ควรปิดแอร์ หรือพัดลม และถอดเสื้อผ้าออกให้หมด ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันทีเมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ หากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้   โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นให้เปียก เช็ดถูตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ร่วมกับการประคบผิวหนังบริเวณที่เป็นจุดรวมของหลอดเลือดขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ เพื่อช่วยให้ถ่ายเทความร้อนจากหลอดเลือดสู่ผิวหนัง และสู่ผ้าเปียกตามลำดับ ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที และวัดไข้ซ้ำหลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที เมื่อไข้กลับขึ้นสูงให้เช็ดซ้ำอีกครั้ง

วิธีการลดไข้ในเด็ก
  1. ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย  ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะไม่ระบายความร้อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนาๆ
  2. ดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่น กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
  3. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น

ทั้งนี้ ถ้าเด็กมีอาการชัก ให้จับนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไหลได้สะดวก ป้องกันการสำลัก ห้ามป้อนยาเด็กในขณะที่ยังมีอาการชัก และแม้เด็กจะหยุดชักแล้ว ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย