พ่อแม่รับมืออย่างไร? เมื่อลูกเรียนออนไลน์

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. วาสนา ปัญจชัยพรพล

พ่อแม่รับมืออย่างไร? เมื่อลูกเรียนออนไลน์

จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปเรื่อยๆ แม้บางโรงเรียนจะเปิดเทอมแล้วแต่ก็ยังไม่ให้เด็กมาโรงเรียน และยังคงต้องทำการเรียนการสอนด้วยช่องทางออนไลน์เช่นเดิมอยู่ดี การเรียนออนไลน์นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพ่อแม่ เพราะถึงแม้ลูกจะนั่งเรียนกับคุณครู แต่การจะทำให้ลูกมีสมาธิกับหน้าจอ โดยไม่ลุกออกไปไหนเลยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และพ่อแม่จะต้องทำงาน แล้วต้องมาคอยคุมลูกเรียนออนไลน์อีก ซึ่งการเรียนออนไลน์ไม่เพียงแค่ทำให้เด็กเครียดเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อพ่อแม่ด้วย เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีรับมือ พร้อมดูแลการเรียนออนไลน์ของลูกให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์อย่างเต็มที่


1. ทำความเข้าใจเรื่องการเรียนออนไลน์

ต้องทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่าการเรียนออนไลน์เป็นอย่างไร ทำไมต้องเรียน เพื่อให้ลูกได้ทำความเข้าใจและพร้อมที่จะเรียนออนไลน์ รวมไปถึงตัวพ่อแม่เองจะต้องเข้าใจและยอมรับว่าการเรียนออนไลน์ไม่เหมือนการเรียนปกติ อย่าคาดหวังว่าการเรียนออนไลน์ของลูกจะต้องออกมาดีพร้อมครบถ้วน การที่ลูกเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่องบ้างไม่มีสมาธิบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เด็กหลายคนไม่ได้อยู่ในวัยที่จะเรียนออนไลน์ได้ดีโดยเฉพาะลูกวัยอนุบาลและประถมต้น เขาต้องการการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้าเห็นตากันจริงๆ และร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และมีคุณครูคอยช่วยเหลือ เพราะสมาธิของเด็กวัยนี้ยังไม่มากพอที่จะจดจ่อกับอะไรนานๆ


2. จัดตารางเวลาที่ชัดเจน

สิ่งที่จะช่วยให้ลูกเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การกำหนดตารางเวลาและกิจวัตรที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรในแต่ละวัน วันนี้เรียนวิชาอะไรเวลาไหน โดยพยายามจัดตารางให้ใกล้เคียงกับเวลาที่เขาไปโรงเรียนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอนตอนเช้า กินอาหารเช้า เข้าเรียน พักเที่ยง ออกกำลังกาย เล่น และเวลาเข้านอน เพราะการทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้ลูกมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น


3. จัดสถานที่ให้เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้

สภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำทุกอย่างในชีวิตประจำวันของลูกเป็นอย่างมาก หากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยและเป็นอุปสรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ ฉะนั้นเพื่อให้การเรียนออนไลน์ของลูกเป็นไปด้วยความราบรื่น สถานที่เรียนออนไลน์ควรเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนตัว เงียบ ไม่มีเสียงรบกวน มีโต๊ะและเก้าอี้ที่ถูกสุขลักษณะ และขอความร่วมมือทุกคนในบ้านไม่ให้ไปรบกวนในช่วงเวลาที่เขาเรียน รวมทั้งการจัดอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ต้องมีความเหมาะสม ถ้าทำได้การให้เรียนผ่านหน้าจอที่มีขนาดใหญ่เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องใช้สายตาเพ่งมองหน้าจอมากเกินไป


4. หากิจกรรมให้ทำเพื่อผ่อนคลาย

การนั่งเรียนออนไลน์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ จอโทรศัพท์ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง นอกจากจะส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด สมาธิสั้น ประสิทธิภาพการเรียนลดลง ยังมีผลต่อสุขภาพของเด็กอีกด้วย ฉะนั้นควรให้ลูกได้มีเวลาพักจากการนั่งเรียนอยู่เฉยๆ ตรงหน้าจอ ไปพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำอาหาร ทำงานศิลปะ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นเกมส์ ต่อเลโก้ เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้ผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง


5. ช่วยสนับสนุนลูกเรียนออนไลน์

เนื่องจากการเรียนออนไลน์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตัวเด็กเองก็ต้องปรับตัวพอๆ กับที่ผู้ใหญ่ที่ต้องปรับตัวทำงานที่บ้านด้วยเช่นกัน พ่อแม่สามารถช่วยสนับสนุนลูกเรียนออนไลน์ได้ โดยเรียนรู้วิธีการเรียนของลูก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเขาได้ในเวลาที่เขาต้องการ การนั่งเรียนเป็นเพื่อนลูกในตอนแรก เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจไม่เครียดหรือกังวลมากเกินไป ช่วยทบทวนบทเรียนของเขาในแต่ละวัน รวมไปถึงการสอบถามถึงการเรียนในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร คอยรับฟังความรู้สึกและความคิดเห็นของลูกถึงสิ่งที่ได้จากการเรียนออนไลน์ และอาจนำไปปรึกษากับคุณครู หรือโรงเรียนเพื่อปรับปรุงพัฒนาการสอนให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องน่าเบื่อและเครียดสำหรับลูก พ่อแม่จึงมีบทบาทอย่างมากที่จะสร้างความสุขและผ่อนคลายความเครียดให้ลูก รวมทั้งคอยสังเกตพฤติกรรมของลูก รับฟังถึงปัญหา และคอยช่วยเหลือทันทีที่เขาต้องการ เพียงเท่านี้การเรียนออนไลน์ของลูกๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย