ภาวะลำไส้รั่ว จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย : พญ. ชุติมา ศิริดำรงค์

ภาวะลำไส้รั่ว จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งน้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย ลำไส้แปรปรวน มีอาการอักเสบของผิวหนัง และอาการอื่นๆ ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่นั้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะการณ์ดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยหนึ่งในสาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกาย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญ และเป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรังอันตรายตามมาได้ เพื่อให้รู้เท่าทัน เราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันกับแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกันดีกว่า


ภาวะลำไส้รั่วเป็นอย่างไร

ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) เป็นภาวะการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ หรือ เซลล์ดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็กจะเรียงชิดติดกัน เพื่อป้องกัน คัดกรอง และควบคุมสารพิษ รวมทั้งเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้อักเสบ หรือมีการบวมของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้จึงไม่เรียงชิดติดกัน ทำให้เกิดช่องว่างที่บริเวณนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงช่องว่างนี้เองทำให้สิ่งแปลกปลอม เชื้อแบคทีเรีย สารอาหารที่เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ สารพิษต่างๆ รั่วซึมเข้าสู่ร่างกาย สู่กระแสเลือด เข้าไปรบกวนระบบภูมิต้านทาน ทำให้เกิดกระบวนการการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายตามมา

> กลับสารบัญ


ลำไส้รั่วตัวการเกิดโรคอะไรบ้าง

ลำไส้รั่วส่งผลให้เกิดภาวะการอับเสบในร่างกายแบบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งการไปรบกวนหรือกระตุ้นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวสับสนเกิดภาวะภูมิแพ้ง่ายขึ้น ยังมีผลต่อการอักเสบในเซลล์สมอง มีผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความจำระยะสั้น เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ลำไส้รั่วเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) มาจากภาวะอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์บุผนังลำไส้ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  1. ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบต่างๆ ยากลุ่มนี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของเยื่อบุในผนังทางเดินอาหาร และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วได้หากใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนาน
  2. ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ โดยในลำไส้จะแข็งแรงได้นอกจากผนังของลำไส้แล้ว ยังมีเรื่องสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วย เมื่อเรากินยายาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไปบ่อยๆ หรือกินมากๆ แล้วไม่ได้เติมเต็มแบคทีเรียตัวดีเข้าไปทดแทน จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้าย หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น เชื้อรา หรือ แบคทีเรียตัวอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ได้
  3. ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่เพียงพอ
  4. ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง

> กลับสารบัญ


ลำไส้รั่วอาการเป็นอย่างไร

  • ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักขึ้นง่าย ขึ้นผิดปกติ
  • มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากผิดปกติ
  • มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ภาวะการไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ เช่น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
  • มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องผูก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ท้องอืดอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ
  • นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนเพลีย
  • มีผื่นคัน มีสิวขึ้นเรื้อรัง

> กลับสารบัญ


ภาวะลำไส้รั่ว ตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  1. หากมีปัญหาระบบทางเดินอาหารมาก่อน เช่น โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียง่าย ท้องผูกง่าย เป็นกลุ่มที่จะมีความเสี่ยงเกิดลำไส้รั่วง่ายมากขึ้น
  2. มีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังรับประทานอาหาร เช่น การกินนม แป้งสาลี ภายใน 1-2 วันมีสิวขึ้น มีผื่นคัน มีอาการปวดตามข้อมากขึ้น หรือตกกลางคืนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือไม่

ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็สงสัยว่าอาจเป็นภาวะลำไส้รั่วได้ ก็จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น

  • การตรวจอุจจาระประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือ Comprehensive Digestive Stool Analysis (CDSA) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คุณภาพการย่อยจากอุจจาระของเราว่าอาหารมีการย่อยสมบูรณ์ไหม สายพันธุ์ของเแบคทีเรียอยู่สมดุลดีไหม มีการเจริญเติมโดของแบคทีเรียร้าย ยีสต์ เชื้อรา หรือมีพยาธิหรือเปล่า
  • การตรวจ Zonulin Test เป็นการตรวจดูระดับของโปรตีน Zonulin ที่ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของช่องระหว่างเซลล์ที่บุผิวภายในลำไส้ดังกล่าวว่าสูงหรือไม่ เช่น เมื่อมีการแพ้สารอาหาร หรือเกิดภูมิแพ้ขึ้นมา จะทำให้ระดับของ Zonulin ในกระแสเลือดของสูงขึ้นซึ่งก็จะบอกได้ว่า ท่านเป็นลำไส้รั่วจริง

> กลับสารบัญ


การรักษาภาวะลำไส้รั่ว

  1. ทำความสะอาดของเสียออกจากลำไส้ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ การทำ Colon Detox
  2. การซ่อมแซมเยื่อบุลำไส้ที่ไม่แข็งแรง โดยเสริมกรดอะมิโน L-Glutamine รวมไปถึงวิตามินอี สังกะสี (Zinc) ซีลีเนียม (Selenium) และโอเมก้า–3 (Omega–3) ที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บและลดการอักเสบของลำไส้ได้
  3. การปรับสมดุลร่างกาย โดยปรับเรื่องอาหาร เลี่ยงอาหารที่แพ้ ลดความเครียด
  4. การเติมเต็มแบคทีเรียดีเข้าไป ได้แก่ จุลินทรีย์ดี Probiotic ซึ่งพบในโยเกิร์ต คีเฟอร์ ถั่วหมัก กิมจิ และอาหาร Probiotic เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม แก่นตะวัน หอมหัวใหญ่ และมะเขือเทศ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


หากเราไม่ดูแลเอาใจใส่ลำไส้ให้ดี อาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดีตามไปด้วย ฉะนั้น การดูแลลำไส้ให้แข็งแรง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่เผชิญอยู่ ก็จะสามารถควบคุมได้หรือค่อยๆ หายไปได้นั่นเอง

พญ.ชุติมา ศิริดำรงค์ พญ.ชุติมา ศิริดำรงค์

พญ.ชุติมา ศิริดำรงค์
เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพนครธน






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย