มาทำความรู้จัก “ต้อกระจก” กันเถอะ

ศูนย์ : ศูนย์จักษุ

บทความโดย : พญ. วิภาวี วงษ์ไชยคณากร

มาทำความรู้จัก “ต้อกระจก” กันเถอะ

ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดจากการขุ่นของเลนส์แก้วตา (Lens) ในลูกตา ทำให้การมองเห็นภาพมีลักษณะคล้ายเป็นหมอกหรือควันขาวๆ และมักจะเป็นจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตาที่อายุมากขึ้น และอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่ดวงตา ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะมองไม่เห็นในที่สุด

อาการหรือสัญญาณเตือนต้อกระจก

อาการเด่นหรือสัญญาณเตือนของผู้ที่เป็นต้อกระจกนั้น ตาจะค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ อย่างช้าๆ เริ่มมองเห็นไม่ชัดเจน สิ่งที่เคยมองเห็นได้ชัดก็จะเห็นชัดน้อยลง โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด เมื่ออยู่ในแสงจ้าอาการตาพร่ามัวอาจจะมากขึ้น สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน แต่กลับมองเห็นปกติในที่มืดสลัวๆ บางรายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะร่วมด้วย และในผู้ที่ต้อกระจกสุกเต็มที่จะมีฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา จะทำให้มองไม่เห็น สำหรับในผู้สูงอายุมักจะเป็นต้อกระจกที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน


ปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัย

ส่วนใหญ่แล้วต้อกระจกจะเกิดจากภาวะเสื่อมตามวัยหรือจากวัยชรา โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเป็น ต้อกระจก แต่อาจจะเป็นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป รวมทั้งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากอายุ ที่อาจทำให้เกิดโรค ต้อกระจกก่อนวัยได้ เช่น

  • การได้รับแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ
  • โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
  • โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาทิ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น โดนลูกขนไก่พุ่งเข้าตา หรือการเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น มีเศษเหล็กกระเด็นเข้าตา เป็นต้น
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์

การวินิจฉัยต้อกระจก

เมื่อตรวจดูตาจะพบว่าแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว หรือสีเหลือง แต่อาการตามัวยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ นอกจาก ต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการ และตรวจดูให้แน่ชัดว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ต้อหิน ทั้งนี้ ต้อกระจกที่พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยอาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ได้


การรักษาต้อกระจก

หากผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเป็นต้อกระจก ในช่วงที่ยังมีอาการเล็กน้อย เลนส์ตายังไม่ขุ่นมาก สามารถชะลอได้โดยใช้ยาหยอดตาทุกวัน (วันละ 3-4 ครั้ง) การหยอดตาไม่ได้เป็นการรักษาโรคต้อกระจก เป็นแค่การชะลออาการ ไม่ให้เลนส์ตาขุ่นเร็วขึ้นเท่านั้น แต่วิธีการรักษาต้อกระจกที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัด


การป้องกันต้อกระจก

การป้องกันโรคต้อกระจกอย่างหนึ่งคือการกินอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) ในปริมาณสูงๆ จะช่วยชะลอการเป็นต้อกระจกได้ เช่น ผักสีเขียวเข้ม (คะน้า บรอกโคลี ใบย่านาง ดอกและใบขี้เหล็ก ) ผลไม้ที่มีวิตามินซีมากๆ เช่น ฝรั่ง มะม่วง ส้มเขียวหวาน มะกอก มะนาว เป็นต้น รวมทั้งลดปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัย คือ การสูบบุหรี่ รวมถึงการกินหรือหยอดยาสเตียรอยด์

นอกจากการป้องกันแล้วการดูแลสุขภาพดวงตาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน สวมแว่นกันแดดที่กรองแสงอัลตราไวโอเลต ไม่จ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรง หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา อย่าให้ดวงตาโดนกระแทก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพตาทุกปี


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย