วัณโรคปอด โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่าย

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : พญ. สุธาสินี กลั่นแก้ว

วัณโรคปอด โรคติดต่อที่แพร่เชื้อง่าย

วัณโรคปอด ฟังดูเหมือนโรคโบราณ แต่กลับยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อย ๆ และยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO, Global Tuberculosis Report 2021) สำหรับปี ค.ศ. 2021-2025 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV ปริมาณมาก โดยจากผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทยปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำขึ้นทะเบียนรักษา 85,837 ราย อัตราการเสียชีวิตสูงและจะสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคร่วม ทั้งนี้ วัณโรคปอดเป็นโรคติดต่อและสามารถแพร่สู่คนผ่านละอองฝอยจากการไอและจามได้ เชื้อแพร่กระจายได้รวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต


รู้จักวัณโรคปอด

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex วัณโรคเกิดได้ทุกอวัยวะของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ 80% พบบ่อยที่ปอด เนื่องจากเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย วัณโรคปอดจะแพร่เชื้อได้ และติดต่อได้ง่ายผ่านทางอากาศด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ และเชื้อนี้ยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย

สำหรับวัณโรคอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อกระดูก ช่องท้อง ระบบประสาท ซึ่งจะไม่แพร่เชื้อ


วัณโรคปอดติดต่อได้อย่างไร

วัณโรคปอดติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ (airborne transmission) เมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด ไอ จาม พูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะ ร้องเพลง ทำให้เกิดละอองฝอย (droplet nuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่มากจะตกสงสู่พื้นดินและแห้งไป ละอองฝอยที่มีขนาดเล็ก 1-5 ไมโครเมตร จะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ แพร่เชื้อให้ผู้ที่สูดเข้าไป

การแพร่กระจายเชื้อวัณโรคจะมากหรือน้อย พิจารณาปัจจัย 3 ด้านเพิ่มเติม คือ

  1. ความสามารถในการแพร่เชื้อวัณโรคของผู้ป่วย เช่น วัณโรคปอด หลอดลม หรือ กล่องเสียง จะแพร่เชื้อทางอากาศได้มาก ผลเสมหะพบเชื้อจะมีโอกาสแพร่ได้มากกว่าเสมหะไม่พบเชื้อ
  2. ระยะเวลาการที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วย ทำงานในห้องเดียวกัน มีโอกาสรับเชื้อมาก
  3. ปัจจัยของสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม สถานที่แออัด แดดส่องไม่ถึง เชื้อสามารถอยู่ในที่ชื้นและมืดได้นานถึง 6 เดือน

การติดเชื้อ และการป่วยเป็นวัณโรคปอด

เมื่อรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะมีระบบภูมิคุ้มกันทำลายเชื้อ ถ้าร่างกายกำจัดเชื้อได้หมดจะไม่เกิดการติดเชื้อ แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้หมด ยังคงมีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ แสดงว่ามีการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) เชื้อวัณโรคที่แฝงในร่างกายเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิต แต่ไม่เจริญเติบโตหรือลุกลาม เมื่อร่างกายมีภาวะอ่อนแอ มีโรคร่วม อายุมากขึ้น ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อวัณโรคที่แฝงอยู่มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้

โดยทั่วไปหลังสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค

  • 70% ไม่ติดเชื้อวัณโรค
  • 30% มีการติดเชื้อวัณโรค โดยคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เรียกว่า การติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) ซึ่งไม่ใช่การป่วยเป็นวัณโรค ภาพรังสีทรวงอกปกติ ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
    • 90% ของวัณโรคระยะแฝง ไม่ป่วยเป็นวัณโรค
    • 10% ของวัณโรคระยะแฝง จะป่วยเป็นวัณโรค แบ่ง 5% ป่วยภายใน 2 ปีหลังรับเชื้อ อีก 5% ป่วยภายหลัง อาจนานนับสิบปีหลังรับเชื้อ
  • ผู้ป่วยเสมหะพบเชื้อถ้าไม่รักษาจะเสียชีวิต 30-40% ใน 1 ปี และ 50-65% ใน 5 ปี

วัณโรคปอดมีอาการอย่างไร

  • ไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
  • ไอแห้ง หรือมีเสมหะ ไอมีเสมหะปนเลือด
  • มีไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ เหงื่อออกกลางคืน
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

ไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวทุกข้อ บางรายไม่มีอาการเลย แต่ภาพรังสีทรวงอกเข้าได้กับวัณโรคปอด


ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรค

  • ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค เช่น ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกัน เพื่อนร่วมงานในห้องเดียวกัน
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือป่วยเป็นโรคเอดส์
  • ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเสพสารเสพติด

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรคปอด

แพทย์จะเริ่มด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เช่น การตรวจต่อมน้ำเหลือง ฟังเสียงปอดขณะหายใจ และใช้การตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  1. การตรวจเสมหะ
  2. เอกซเรย์ปอด ถ้าเอกซเรย์ปอดสงสัยแต่ไม่ชัดมากอาจต้องทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) เพิ่มเติม

การรักษาวัณโรคปอด

วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาการรักษาประมาณ 6-9 เดือน ขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรค โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแล และกำกับการรับประทานยาของผู้ป่วย พร้อมทั้งคอยแนะนำหากมีอาการแพ้ยาและพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจนครบการรักษา โดยแพทย์อาจเลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค เช่น ไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ริฟามพิน (Rifampin) เอทแทมบูท (Ethambutol) และไพราซีนาไมด์ (Pyrazinamide) เป็นต้น


อาการข้างเคียงที่พบจากการรับประทานยารักษาวัณโรค

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
  • มีผื่นขึ้นปริมาณมาก ทั้งที่คันและไม่คัน
  • ไข้ขึ้น ปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ
  • การมองเห็นผิดปกติ ที่ไม่พบสาเหตุอื่น
  • พบอาการข้างเคียงดังกล่าวต้องหยุดรับประทานยา และรีบมาพบแพทย์เพื่อปรับสูตรยา

ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเป็นวัณโรค

  • ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันไม่ให้ เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น จนกว่ารับประทานยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ไอจามใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูก ทิ้งในถังขยะที่มีถุงรองรับและมีฝาปิด ล้างมือบ่อยๆ บ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดทำลายโดยการเผาทุกวัน หรือบ้วนเสมหะในโถส้วม
  • รับประทานยาตามขนาดและชนิดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา
  • หลังรับประทานยาอาการจะดีขึ้น แต่ห้ามหยุดยาเป็น อันขาด เพราะจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาและยากต่อการรักษา
  • รับประทานอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • จัดสถานที่พักอาศัยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่อง
  • ควรงดเหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด เพราะมีผลต่อการรับประทานยา
  • ควรนำคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กไปตรวจภาพรังสีทรวงอก สำหรับในเด็กจำเป็นต้องประเมินการติดเชื้อวัณโรคเพราะต้องให้ยาป้องกัน

วัณโรคกับเอดส์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

  • ผู้ป่วยโรคเอดส์ ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็น วัณโรคได้รวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเอดส์
  • วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยเอดส์
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นวัณโรค มีสถิติการเสียชีวิตมากกว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ไม่ติดเชื้อวัณโรค
ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจ โดยการเอกซเรย์ปอด และตรวจเสมหะ และควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น


พญ.สุธาสินี กลั่นแก้ว พญ.สุธาสินี กลั่นแก้ว

พญ.สุธาสินี กลั่นแก้ว
อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
ศูนย์อายุรกรรม






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย