อย่าปล่อยให้ “อาการปวดคอ” เป็นปัญหากวนใจ

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์

อย่าปล่อยให้ “อาการปวดคอ” เป็นปัญหากวนใจ

คอ เป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างศีรษะและลำตัว ประกอบด้วยกระดูกคอ 7 ชิ้น และมีกระดูกอ่อนเป็นหมอนรองคั่นระหว่างกระดูกแต่ละชิ้น เมื่อเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ กัน หมอนรองกระดูกจะถูกกด ซึ่งมีกล้ามเนื้อและเอ็นคอยป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย นอกจากนี้บริเวณคอยังเป็นทางผ่านของ ประสาทไขสันหลัง รากประสาท และหลอดเลือดโลหิตดำและแดง ดังนั้น คอจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่ควรระมัดระวังไม่ให้ได้รับอันตราย


สาเหตุอาการปวดคอ

อาการปวดคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  1. การใช้คอในท่าทาง และรูปร่างที่ผิด เช่น นอนคว่ำอ่านหนังสือ
  2. ความเครียดจากการทำงาน ซึ่งคอต้องอยู่ในท่าเดียวเป็นเวลานานๆ เช่น การนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  3. อุบัติเหตุที่เกิดกับบริเวณคอโดยตรง
  4. ความเสื่อมของอวัยวะเมื่อมีอายุมากขึ้น
  5. จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพร่กระจายของมะเร็งสู่บริเวณคอ

ลักษณะของอาการปวดคอ

  1. ปวดบริเวณต้นคอด้านหลังทั้งสองข้าง
  2. ทำให้เคลื่อนไหวคอได้น้อยลงเนื่องอาการปวด
  3. อาจมีการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ข้างแก้ม ท้ายทอย หลัง อกส่วนบน แขนและมือ หรือมีอาการชาร่วมด้วย

การรักษาอาการปวดคอ

  1. อาการปวดคอเฉียบพลัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักคอนิ่งๆ หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงคอ (คอลล่า) ร่วมกับการใช้น้ำอุ่นประคบ การใช้ยาลดการอับเสบและลดปวดร่วมกับการใช้ยาทาภายนอก
  2. อาการปวดคอเรื้อรัง รักษาโดยการกำจัดสาเหตุเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง แพทย์จะตรวจวินิจฉัย หรือแนะนำให้ทำ MRI เพื่อตรวจสแกนแบบละเอียด ค้นหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง
  3. การรักษาโดยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของประสาทไขสันหลังถูกกด หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลังส่วนคอ ต้องรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น

เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดคอ สามารถป้องกันได้ดังนี้

  1. ควรวางคอในท่าปกติเสมอ คือ ศีรษะ คอ คาง ไหล่ตรง ตามองตรงในระดับสายตา
  2. ไม่เอียงคอ หันคอ หรือสะบัดคอแรงๆ
  3. ไม่อยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น ก้มหน้า เงยหน้า เอียงคอ
  4. หลีกเลี่ยงการยกของหนักซึ่งต้องเกร็งไหล่และคอตลอดเวลา
  5. ไม่นั่งหลับในขณะรถแล่นอยู่ เพราะถ้ารถกระชาก จะทำให้ศีรษะถูกกระชากไปด้วย ก่อให้เกิดอาการปวดคอได้
  6. ไม่หนุนหมอนแข็งหรือนุ่มเกินไป ความสูงของหมอนควรได้ระดับไหล่ เมื่อนอนตะแคงถ้าหมอนสูงไปกระดูกคอจะงอ ถ้าหมอนต่ำไปหรือไม่หนุนหมอนกระดูกคอจะแอ่น ทำให้ปวดเมื่อยคอได้ และหมอนควรกว้างพอที่จะไม่ตกหมอน หมอนที่ถูกลักษณะ คือ หมอนที่หนุนเฉพาะต้นคอ หรือหมอนที่หนุนศีรษะแล้วหลังตื่นนอนรู้สึกสบายบริเวณคอ ไม่มีอาการปวดเมื่อยคอ
  7. ออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 เวลา เช้า–เย็น หรือทุกครั้งที่มีอาการปวดเมื่อยล้าคอ

การบริหารกล้ามเนื้อคอ

ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวไม่เกร็งบรรเทาอาการปวดเมื่อยและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงกระดูกคอเสื่อมช้าลงหลักการ

  • เป็นการบริหารแบบเกร็งโดนยันและต้านสู้กันไว้ (ซึ่งใช้มือช่วยโดยวางมือในตำแหน่งต่างๆ ดังจะอธิบายต่อไป) ข้อสังเกตขณะยันและต้านสู้กันนั้น จะไม่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ
  • ให้เกร็งโดยยันและต้านสู้กันไว้แต่ละครั้งนานนับ 1-10 หรือ 6-10 วินาทีแล้วจึงคลายพักสักครู่ และทำใหม่ในลักษณะเดียวกันทำซ้ำๆ ไม่รุนแรงและไม่หักโหมทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง
  • ท่าบริหารทั้งหมด 4 ท่า ในแต่ละท่าให้เริ่มบริหารจากท่าคอปกติ คือ ศีรษะ คอ คาง และไหล่ตรง สายตามองตรงในระดับสายตา แล้วจึงค่อยเพิ่มหรือลดองศาครั้งละ 5-10 องศาจนสุดมุมของทั้ง 4 ท่า
  • ไม่บริหารขณะมีอาการปวดคอรุนแรงควรพักคอนิ่ง ๆ ในท่าคอปกติและพบแพทย์เพื่อการรักษาดูแลที่ถูกต้องต่อไป

ท่าบริหาร


ท่าบริหารคอ 1. ท่าก้มคอ เริ่มต้นจากท่าคอปกติ ใช้มือข้างที่ถนัดยันต้านสู้กันบริเวณหน้าผากขณะที่ก้มคอ ดังนั้นคอจะไม่ก้มตาม และในขณะเดียวกันจะไม่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ
ท่าบริหารคอ 2. ท่าแหงนคอ ใช้มือสองข้างประสานกันวางที่ท้ายทอย โดยยันและต้านสู้กันไว้บริเวณท้ายทอยขณะบริหาร
ท่าบริหารคอ 3. ท่าตะแคงคอลงด้านขวาและด้านซ้าย ใช้มือด้านเดียวกับคอที่จะตะแคงลง ยันและต้านสู้กันไว้ที่บริเวณศีรษะเหนือหู
ท่าบริหารคอ 4. ท่าหันคอไปด้านขวาและซ้าย ใช้มือด้านเดียวกันกับคอที่จะหันไปยันและต้านสู้กันไว้ที่บริเวณคาง

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย