อะไรคือสาเหตุการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ ในผู้ป่วยที่เปลี่ยนไตใหม่แล้ว

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

อะไรคือสาเหตุการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ ในผู้ป่วยที่เปลี่ยนไตใหม่แล้ว

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ถือว่าเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคไตรื้อรังระยะสุดท้ายที่หายขาด และช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไตที่ได้ไตใหม่ไปแล้วบางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ไตใหม่เมื่อได้รับการปลูกถ่ายไปแล้ว เกิดไม่ทำงานหรือหยุดทำงาน ทั้งนี้มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำหลายครั้ง ซึ่งปัจจัยที่ว่านี้มีอะไรบ้าง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ มีความยากซับซ้อนแค่ไหน ไปหาคำตอบกัน


สาเหตุที่ทำให้ต้องรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ

หลังจากรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเรียบร้อยแล้ว ไตปลูกถ่ายจะอยู่ได้นานเท่าไรขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุ มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตซ้ำหลายครั้ง โดยการเปลี่ยนไตซ้ำนั้น มักพบสาเหตุบ่อยครั้งจากไตปลูกถ่ายไม่ทำงานหรือหยุดทำงาน จนต้องทำให้ปลูกถ่ายไตซ้ำ ได้แก่

  • ภาวะของร่างกายปฏิเสธไต สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไตไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ไตทำงานได้ลดลง อาจนำไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาล้างไตหรือ รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำอีกครั้ง
  • ภูมิคุ้มกันทำลายไตแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการสลัดไตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยสาเหตุมาจากไตที่เปลี่ยนมาใหม่ค่อยๆ เสื่อมลงทีละเล็กทีละน้อย โดยจะตรวจพบว่าค่าการทำงานของไตค่อยๆ แย่ลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นในช่วง 3-5 ปีก่อนที่ไตใหม่จะหยุดทำงาน ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ ต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แล้วรอเวลาผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำอีกครั้ง
  • การติดเชื้อบางชนิด ซึ่งผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อบางชนิด จะส่งผลต่อการทำงานของไตโดยตรง ได้แก่ บี เค ไวรัส (BK Virus) และอะดีโนไวรัส (Adenoviruses) หรือแม้แต่การติดเชื้อชนิดอื่นๆ ที่รุนแรงจนส่งผลให้ผู้ป่วยต้องลดยากดภูมิลง และท้ายที่สุดก็นำไปสู่การสลัดไต ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไตซ้ำอีกครั้ง
  • การเป็นโรคร่วม หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ หลายโรค ผู้ป่วยบางรายมีโรคร่วมอื่นๆ ซึ่งเคยเป็นสาเหตุของภาวะไตเรื้อรังในครั้งแรกอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไตอักเสบบางประเภท แล้วคุมโรคให้อยู่ในภาวะปกติไม่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อไตที่เปลี่ยนใหม่ ทำให้ไตเกิดการเสื่อม และนำไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย อาจต้องทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และทำการผ่าตัดปลูกถ่ายมาใหม่ได้
  • ไตใหม่เสื่อมสภาพตามอายุ ไตใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตไปแล้วนั้น เกิดการเสื่อมสภาพเหมือนไตของคนปกติทั่วไป รวมทั้งขึ้นอยู่ตามการดูแลรักษาของผู้ได้รับการเปลี่ยนไต โดยปกติจะสามารถใช้งานได้อยู่ประมาณ 10-20 ปี

เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำได้กี่ครั้ง

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำ สามารถทำได้มากถึง 3-4 ครั้ง แต่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าครั้งแรก เนื่องจากร่างกายเคยได้รับไตใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตซ้ำแล้วร่างกายจะเกิดการต่อต้าน แพทย์จึงอาจจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันที่พิเศษขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นไปทำลายไต และเมื่อผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยากดภูมิคุ้มกันมากขึ้น จึงควรเข้ารับการผ่าตัดโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันการเกิดการปลูกถ่ายไตซ้ำและลดผลแทรกซ้อนจากยากดภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ตาม การป้องกันเพื่อทำให้ไตที่ปลูกถ่ายซ้ำอยู่ได้นาน สามารถทำได้โดยการปรับปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ไตใหม่ครั้งที่ 2 หรือ 3 อยู่ได้นานขึ้น และควรได้รับการปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไตโดยตรง เนื่องจากผู้ป่วยในแต่ละรายมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมจนนำไปสู่การปลูกถ่ายไตซ้ำแตกต่างกัน





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย