กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ กลั้นบ่อยระวัง

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย :

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ กลั้นบ่อยระวัง

คนที่ชอบกลั้นปัสสาวะเอาไว้นานๆ กลั้นบ่อยๆ หรือ บางคนปวดปัสสาวะแต่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ ต้องทนปวดไปก่อน พอได้เข้าห้องน้ำกลับมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด นั้นคือสัญญาณว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งโรคนี้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไร แต่ถ้าหากทุกคนมองข้ามโรคนี้แล้วปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอักเสบของไตเรื้อรัง และยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน กลายเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้อีกด้วย


กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่อะไร

กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ในผู้หญิงจะอยู่หลังกระดูกหัวเหน่าภายในอุ้งเชิงกรานด้านหน้ามดลูก และผู้ชายจะอยู่ด้านหน้าต่อทวารหนัก มีหน้าที่กักเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 350-500 มิลลิลิตร ผนังของกระเพาะปัสสาวะมีกล้ามเนื้อเรียบ 3 ชั้น ที่คอของกระเพาะจะมีกล้ามเนื้อหูรูดทวารเบามัดใน (internal sphincter muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลายอยู่ด้วย กระเพาะปัสสาวะจะทำหน้าที่เป็นที่เก็บสะสมน้ำปัสสาวะ จนกระทั่งมีน้ำปัสสาวะเกิน 250 มิลลิลิตร ก็จะรู้สึกปวด อยากถ่ายปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะหดตัว ขับน้ำปัสสาวะออกมา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่มีอาการปวดหรือแสบใดๆ

> กลับสารบัญ


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากอะไร

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection หรือ UTI) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ หรือคนที่นั่งโต๊ะทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยน ทำให้บ่อยครั้งต้องอั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานานๆ หรือเร่งรีบเบ่งปัสสาวะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้โดยง่าย ขณะที่ผู้ชายมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก โอกาสที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจึงมีน้อยกว่ามาก รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้

  1. การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เกิดการสะสมของแบคทีเรียซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย
  2. ผู้สูงอายุ เนื่องจากสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือในผู้ที่ขาดคนดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจึงแช่ค้างหรือคั่งในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคและแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ดี
  3. สตรีมีครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ศีรษะของทารกในท้องกดดันให้เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่หมด เกิดปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ และก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  4. การดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้หญิงหากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี
  5. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน หากควบคุมโรคได้ไม่ดี จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่า
  6. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  7. การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ
  8. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

อาการบ่งบอกกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการแสดงที่สำคัญ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ปัสสาวะไม่ค่อยสุด หยด หรือไหลซึมออกมาอีก
  • รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ขณะปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็งหรืออาจปวดแบบถ่วงๆ
  • ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุดหรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
  • บางรายมีอาการไข้ร่วมด้วย
  • ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น
  • กลางคืนต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไป

> กลับสารบัญ


การตรวจและวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจปัสสาวะถ้าตรวจพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หากมีการติดเชื้อแพทย์อาจส่งน้ำปัสสาวะเพื่อการเพาะเชื้อ ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ หรือมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะเพิ่มเติมว่ามีความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือนิ่วในไต เป็นต้น

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โดยทั่วไปการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วันขึ้นอยู่กับชนิดของยา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะนาน 7-10 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยากลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น และ ให้ดื่มน้ำเสมอๆ วันละ 2.5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)

> กลับสารบัญ


ป้องกันไม่ให้เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบอย่างไร

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงของโรคลง อาทิ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศด้วยการทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ควบคุมโรคเบาหวานที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันที เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือสงสัยว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย