โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อย เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : นพ. สรนนท์ ไตรติลานันท์

โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อย เรื่องใหญ่ที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ

“โรคหัวใจในเด็ก” สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งหลายคนสงสัยและนึกไม่ถึงว่าโรคหัวใจเกิดขึ้นกับเด็กได้ด้วยหรือ? ทั้งนี้เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วโรคหัวใจในเด็กมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากพอๆ กับโรคหัวใจในผู้ใหญ่ โดยเด็กมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางรายตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด บางรายตรวจพบหลังอายุ 1-2 เดือน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก และหมั่นสังเกตอาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคหัวใจในเด็ก หายได้ หากตรวจพบเร็วและรักษาอย่างทันท่วงที


โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อย

โรคหัวใจในเด็ก สามารถจำแนกเป็น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจที่เกิดภายหลังเกิด ดังนี้

1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โรคนี้อาจตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังคลอด หรือเมื่อโตแล้ว เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการ และตรวจก็ไม่พบสิ่งผิดปกติในสัปดาห์แรก แต่ในบางรายมีความผิดปกติของอวัยวะอย่างอื่นร่วมด้วย บางรายเป็นเด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม และบางรายเป็นความผิดปกติจากมารดาได้รับเชื้อในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เช่น หัดเยอรมัน โรคประจำตัว โรคเบาหวาน เป็นต้น

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถแบ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียวและไม่เขียว ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการแสดงจนถึงรุนแรงมากจนถึงเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด โดยชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว ผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว ความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด เช่น มีรูรั่วเล็กๆ ที่ผนังกั้นห้องล่าง หรือมีลิ้นหัวใจตีบเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ก็สามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ต้องป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจหรือบริเวณรูรั่ว

2. โรคหัวใจในเด็กที่เกิดภายหลัง หรือเกิดขึ้นหลังคลอด ที่พบได้บ่อยคือ

  • โรคคาวาซากิ มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นกลุ่มอาการที่มีการอักเสบของหลอดเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย มีไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในระยะเฉียบพลัน หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจอักเสบ เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • โรคไข้รูมาติก มักพบในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป สาเหตุเกิดหลังการติดเชื้อที่บริเวณคอแล้วเกิดอาการอักเสบตามมาซึ่งจะมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจ ทำให้มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือถ้าเป็นเรื้อรังทำให้ลิ้นหัวใจตีบ โดยจะมีอาการเป็นไข้ ปวด และบวมตามข้อ ผิวหนังมีผื่นแดง และชั้นใต้ผิวหนังมีตุ่มแข็ง หากมีหัวใจอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หอบ ขาและเท้าบวม
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มักเกิดจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน นอกจากนั้นยังพบเกิดได้จาก ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสโรคชิคุนกุนยา ซึ่งทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง อาจเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็ก อัตราการเต้นช้าหรือเร็วเกินไป ส่วนใหญ่ในเด็กมักพบเป็นชนิดเต้นเร็วผิดปกติ มีอาการเป็นๆ หายๆ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ โรคนี้มักไม่มีอาการ แต่สามารถสังเกตได้ คือ เด็กมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง ขณะนอนหลับ หรือพักผ่อน โดยที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ หรือวิ่งเล่น จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ อาจรู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้นเป็นพักๆ เด็กๆ อ่อนเพลีย หรือมีอาการหน้ามืด

สัญญาณเตือนว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจ

  1. เหนื่อยง่ายเวลาออกกกำลังกาย หายใจหอบ
  2. อาการเขียว สังเกตจากบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ หรือสังเกตริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวขณะดูดนม ในเด็กเล็กที่เริ่มมีอาการเขียว อาจเห็นว่าปลายนิ้วมือมีสีแดงเข้มกว่าส่วนอื่น
  3. น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เจริญเติบโตช้า หรือพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
  4. หน้ามืด เป็นลม
  5. เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง
  6. เหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ โดยไม่ได้สัมพันธ์กับการสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา หรือไม่ได้มีอากาศที่ร้อน

การตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกายฟังเสียงหัวใจ การวัดปริมาณออกซิเจนในร่างกายที่มือและเท้าทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้ตรวจคัดกรองโรคหัวใจในเด็กได้ตั้งแต่แรกเกิด การทำเอกซเรย์ทรวงอกและปอด เพื่อดูขนาดหัวใจ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจความผิดปกติของขนาดห้องหัวใจ และการอัลตราซาวด์หัวใจ เป็นต้น


การรักษาโรคหัวใจในเด็ก

เมื่อตรวจวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใดและประเมินความรุนแรงของโรคแล้ว กุมารแพทย์โรคหัวใจจะทำการรักษาโดยมีวิธีการรักษาตั้งแต่การใช้ยาในกรณีมีภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาด้วยการสวนหัวใจ รักษาด้วยการจี้ทางเดินประจุไฟฟ้าที่ผิดปกติ (ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ) เป็นต้น เด็กบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใดๆ เพียงแต่ต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อน และควรติดตามการดูแลเป็นระยะห่างๆ โดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อย หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที เพราะการที่เราสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กได้เร็ว จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทำให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย