โรคไตเสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน ป้องกันดีกว่ารักษา

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

โรคไตเสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน ป้องกันดีกว่ารักษา

โรคไตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในไตและระบบทางเดินปัสสาวะ โรคอ้วน เป็นต้น รวมทั้ง มีพฤติกรรมทานอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด ทานยาหรือสมุนไพรที่ทำลายไตเป็นประจำ ซึ่งหากละเลยอาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และดำเนินโรคจนถึงระยะรุนแรงจนต้องรับการฟอกไตไปตลอดชีวิต ดังนั้นการป้องกันโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ


ไต คืออะไร

ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่ว ขนาดประมาณกำปั้นมือ หรือประมาณ 9-11 ซม. มี 2 ข้าง อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลัง ทำหน้าที่หลักคือ กรองน้ำและของเสียที่ไม่มีประโยชน์ เช่นสารพิษและยาส่วนเกิน ออกจากร่างกายโดยขับออกมาในรูปปัสสาวะ, ดูดซึม กักเก็บสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย, รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกายตลอดจนควบคุมความเป็นกรด-ด่างในเลือด, ควบคุมความดันโลหิต และยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกาย


รู้จักโรคไตเรื้อรัง

โรคไตคือภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ มีหลายชื่อเรียก เช่น ไตวาย ไตเสื่อม ไตทำงานลดลง แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ โรคไตเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury/ Acute Kidney disease) ซึ่งเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ และ โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป รักษาไม่หายขาดและอาจดำเนินโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่โรคไตเรื้องรังระยะสุดท้าย

ข้อมูลล่าสุดในประเทศไทย พบว่ามีความชุกของโรคไตเรื้อรัง เท่ากับ 17.5 %ของประชากร และสาเหตุของโรคไตเรื้อรังเกิดจาก โรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive nephrosclerosis) มากที่สุด รองลงมาเกิดจากโรคเบาหวาน (Diabetic kidney disease) โดย 2 สาเหตุนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 80 %ของสาเหตุทั้งหมด สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคไตอักเสบเรื้อรังชนิดต่างๆ (Chronic glomerulonephritis), ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ (Obstructive nephropathy) เป็นต้น ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดโรคไตทั้งสองข้างพร้อมกัน ยกเว้นภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้างพร้อมกันก็ได้


วินิจฉัยโรคไตเรื้อรังอย่างไร

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หมายถึง ผู้ป่วยที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสองข้อต่อไปนี้

1. มีภาวะไตผิดปกตินานติดต่อกันเกิน 3 เดือน เช่น ตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เม็ดเลือดแดงรั่วในปัสสาวะ ตรวจเลือดเจอความผิดกติของเกลือแร่ที่เกิดจากท่อไตผิดปกติ พบนิ่ว ถุงน้ำ หรือมวลไตเล็กผิดปกติจากการตรวจรังสีวิทยาตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างหรือพยาธิสภาพจากการตรวจชิ้นเนื้อไต เป็นต้น โดยอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate; eGFR) อาจผิดปกติหรือไม่ก็ได้

โดยกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยวัดจากอัตราการกรองของไต (eGFR หน่วย mL/min/1.73m2) ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ค่า eGFR > 90 (ปกติ)
  • ระยะที่ 2 ค่า eGFR 60-89 (ถือว่าลดลงเล็กน้อย)
  • ระยะที่ 3 ค่า eGFR 30-59 ( ถือว่าลดลงปานกลาง)
  • ระยะที่ 4 ค่า eGFR 15-29 (ถือว่าลดลงมาก)
  • ระยะที่ 5 ค่า eGFR < 15 (ถือเป็นไตวายระยะสุดท้าย)

2. มี GFR น้อยกว่า 60 mL/min/1.73m2 ติดต่อกันเกิน 3 เดือน โดยอาจตรวจพบหรือไม่พบว่ามี ภาวะไตผิดปกติก็ได้ ค่าการทำงานของไตจะบ่งบอกให้แพทย์ทราบได้ว่าไตทำงานได้มากน้อยเพียงใด เมื่ออาการโรคไตยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ค่าการทำงานของไต GFR ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง

  • อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • โรคที่มีผลกระทบกับไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์หรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง โรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมลง ส่งผลให้การทำงานของไตเสื่อมลง
  • ได้รับยาในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือสารพิษที่ทำลายไต (Nephrotoxic agents)
  • มีมวลเนื้อไตลดลง หรือมีไตข้างเดียว
  • โรคติดเชื้อทางเดินระบบปัสสาวะส่วนบนช้ำหลายครั้ง
  • ตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ หรือตรวจพบถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่งขึ้นไป
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

อาการของโรคไตเรื้อรัง

  • เปลือกตา ใบหน้าบวม เท้าและขาบวม กดบุ๋ม เกิดจากการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย หรือจากโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะส่งผลให้ระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือดต่ำ อาการบวมน้ำนี้อาจเกิดร่วมกับปริมาณปัสสาวะที่ลดลงหรือไม่ก็ได้
  • ปัสสาวะมีสีเลือดปน และ/หรือมีฟองมากผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
  • มีอาการปวดบั้นเอวหรือบริเวณสีข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่กลางหลัง) อาจเกิดจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจพบความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึม สับสน คันตามตัว เกิดจากของเสียคั่ง (มักพบระยะท้ายของโรค)
  • ซีด (โลหิตจาง) ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เกิดจากขาดฮอร์โมนจากไตที่ใช้ในกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (มักพบระยะท้ายของโรค)

การตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง

โรคไตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย หากไม่ได้รับการตรวจ การสืบค้นหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคตามมาได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตจะช่วยวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังได้ในระยะแรก เพื่อจะได้หาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เมื่อสงสัยว่าตัวเองจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตหรืออาการที่อาจเป็นโรคไต ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองก่อน ได้แก่

  • ตรวจปัสสาวะดูว่ามี โปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงรั่วออกมาในปัสสาวะหรือไม่
  • ตรวจเลือดดูอัตราการกรองไต GFR (การทำงานของไต) ดูความผิดปกติของเกลือแร่
  • การตรวจอัลตราซาวด์ หากมีความผิดปกติอาจต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อ หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคไตเรื้อรังจะทำการตรวจเพิ่มเติมแบบละเอียดเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป

การรักษาโรคไตเรื้อรัง

การรักษาโรคไตเรื้อรังขึ้นกับสาเหตุของโรคไตเรื้อรังนั้นๆ โรคร่วมที่มีอยู่ และระยะของโรคที่เป็น

  • การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ได้แก่
    • ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น คุมระดับน้ำตาล คุมระดับความดันโลหิต คุมระดับไขมันให้ปกติ
    • จำกัดปริมาณเกลือโซเดียม และโปรตีนที่รับประทานต่อวัน แต่ต้องได้พลังงานโดยรวมจากอาหารเพียงพอ
    • การใช้ยาเพื่อลดปริมาณโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
    • การปฏิบัติตัวเช่น เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการทานยาที่มีผลเสียต่อไต ทานน้ำสะอาดอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน (ยกเว้นมีอาการบวมน้ำแล้วอาจต้องลดปริมาณลง)
  • รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่
    • ภาวะเลือดจาง โดยให้ยาธาตุเหล็ก ยาฉีดกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
    • ภาวะบวมน้ำ โดยการลดเค็ม คุมน้ำ ยาขับปัสสาวะ
    • ภาวะเกลือแร่โปแตสเซียมสูง โดยคุมอาหารและ ยาขับโปแตสเซียม
    • ภาวะเลือดเป็นกรด โดยลดปริมาณโปรตีนที่ทาน ยาปรับสมดุลกรดด่าง
    • ภาวะแคลเซียม/ฟอสเฟตผิดปกติ ขาดวิตามินดี ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โดยคุมอาหาร ให้ยาคุม
  • การรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต เพื่อทดแทนไตที่ทำงานได้น้อยมากในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้แก่ การปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตผ่านทางช่องท้อง

โรคไตเรื้อรังป้องกันไว้ดีกว่ารักษา

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตโดยตรงเอง และต่อการเกิดโรคที่จะเป็นสาเหตุของโรคไตในอนาคต

  • ผู้มีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเหลี่ยงอาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูง หวานจัด มันจัด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรควบคุมอาการของโรค และเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาชุด สมุนไพร เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังมักไม่รู้ตัวหากไม่ได้รับการตรวจ เนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา เมื่อโรคดำเนินรุนแรงขึ้นอาการจึงค่อยๆ เริ่มแสดงออกมา แต่มักเป็นอาการไม่จำเพาะซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคอื่นทั่วไป หรืออาจแฝงมากับโรคของระบบอวัยวะอื่นๆ จะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือด หรือ ตรวจปัสสาวะ ดังนั้นการหมั่นคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นและรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้วินิจฉัยได้เร็วขึ้นเพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป และยังถือเป็นการเฝ้าระวังก่อนการเกิดโรคที่ดีด้วย





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย