การตรวจคัดกรองโรคไตสำคัญอย่างไร ใครบ้างควรไปตรวจ

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

การตรวจคัดกรองโรคไตสำคัญอย่างไร ใครบ้างควรไปตรวจ

โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยส่วนใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงมักไม่ได้รับการตรวจและสืบค้นโรคอย่างจริงจัง ทำให้เสียโอกาสในการรักษาแต่เนิ่นๆ หากรอจนมีอาการผิดปกติแล้วค่อยมาตรวจ การทำงานของไตมักเสื่อมไปมากแล้วจนเข้าสู่ระยะรุนแรง ทำให้รักษาไม่ทันการ หรือรักษาได้แต่ผลการรักษาไม่ดีเท่าการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยโรค เฝ้าระวังความเสี่ยงของโรคที่อาจกำลังมาถึง และรักษาได้ทันท่วงที


ทำไมต้องใส่ใจ..ไต

ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญในการปรับสมดุลน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกาย ช่วยกำจัดของเสีย สารพิษ รวมถึงยาส่วนเกินออกจากร่างกาย ถ้าไตเสื่อมรุนแรงจนไม่ทำงาน จะทำให้เกิดความปกติจนไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ การปลูกถ่ายไต จึงจะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้โรคไตเรื้อรังยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือดได้สูง เช่น โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ ซึ่งทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร


เหตุผลที่ต้องตรวจคัดกรองโรคไต

การตรวจคัดกรองการเกิดโรคไตเป็นการป้องกันก่อนการเกิดโรคที่ดีที่สุด หากพบความเสี่ยงของการเกิดโรคตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค จะได้หาวิธีป้องกันอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงลง หากพบว่าเป็นโรคไตแล้ว การรักษาตั้งแต่แรกสามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ดีกว่าการรักษาเมื่อโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว และการชะลอความเสื่อมของไตตั้งแต่ระยะแรกๆของโรค จะช่วยป้องกันหรือยืดระยะเวลาการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคและความจำเป็นในการบำบัดทดแทนไตได้


ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองโรคไต

โรคไตเรื้อรังเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย สามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนี้

  1. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเก๊าท์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
  3. ผู้ที่สูบบุหรี่ประจำหรือ ประวัติสูบบุหรี่มานาน
  4. ผได้รับยา สมุนไพร หรือ สารพิษที่มีผลทำลายไตเป็นประจำ
  5. ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง
  6. ผู้ที่มีอาการ ได้แก่ ใบหน้า ตัว หรือเท้าบวม ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย แสบขัด มีเลือดปน หรือมีฟองผิดปกติ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตรวจพบความดันโลหิตสูง

ตรวจคัดกรองโรคไต ตรวจอะไรบ้าง

เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตในอนาคตและเฝ้าดูติดตามโรคไตในปัจจุบัน การตรวจมีดังนี้

  • ตรวจร่างกายและสรุปผลการตรวจจากอายุรแพทย์โรคไต (Nephrologist)
  • ตรวจเลือดดูการทำงานของไตโดยประเมินระดับยูเรียและ ครีเอตินีน (BUN, Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่ไตขับออกมาในปัสสาวะ และนำมาคำนวณอัตราการกรองของไตหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ค่าการทำงานของไต (estimated Glomerular filtration rate; eGFR)
  • ตรวจระดับเกลือแร่ (Electrolyte) เพื่อดูค่า SODIUM (Na), POTASSIUM (K) และ Bicarbonate (CO2)
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
  • ตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1C)
  • ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด (Uric Acid)
  • ตรวจปัสสาวะเบื้องต้น (Urine Examination; UA)
  • ตรวจปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ (Urine microalbumin; UMA)
  • ตรวจอัลตราซาวด์ดูลักษณะของไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ (Ultrasound Kidney Urethra Bladder)

เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจ

การตรวจคัดกรองโรคไต ผู้รับการตรวจจะต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท อย่างน้อย 24 ชั่วโมง กรณีที่ท่านต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตสูงเป็นประจำ สามารถรับประทานยาได้ตามปกติสามารถเข้ามาตรวจได้ โดยสามารถเข้ามารับบริการตรวจได้ที่ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 1 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง และได้ผลตรวจภายในวันที่มาตรวจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 024509999 ต่อ 1088-1091

ผู้ป่วยโรคไตระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จึงทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการรักษา ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่ารอจนกว่ามีอาการผิดปกติซึ่งมักดำเนินโรคไปในระยะที่รุนแรงแล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคไตเป็นประจำ เพราะการป้องกันก่อนการเกิดโรค ย่อมดีกว่าการรักษา





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย