การปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่ไตเริ่มเสื่อม ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, แผนกไตเทียม

บทความโดย : นพ. อำนวย ศิริโสภา

การปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่ไตเริ่มเสื่อม ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

เมื่อป่วยเป็นโรคไต ประสิทธิภาพการทำงานของไตก็จะลดลง ส่งผลให้การควบคุมการขับของเสียออกจากร่างกายแย่ไปด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่ไตเริ่มเสื่อม และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องดูแลตัวเองให้ดีไม่แพ้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องคุมความเสี่ยงและโรคร่วมซึ่งมีผลกับไต ระวังการใช้ยาและสมุนไพรที่เป็นผลเสียต่อไต รวมไปถึงการลดเค็มในอาหารที่รับประทานที่เป็นเรื่องต้องใส่ใจให้มาก เนื่องจากเกลือที่แฝงมากับอาหารในปริมาณที่สูงมากจะก่อให้เกิดโรคไตและทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่แล้วแย่ลงได้


การชะลอความเสื่อมของไต

หลักการที่สำคัญของการรักษาโรคไตเรื้อรัง คือ การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงร่วมกับการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไตไม่ทำให้ไตเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ และยืดระยะเวลาที่จะเข้าสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายให้นานที่สุด ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะล้วนได้ประโยชน์จากการรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมไต ไม่ว่าจะเป็นระยะแรกซึ่งเนื้อเยื่อไตยังไม่ได้รับความเสียหายมากนักและการทำงานไตโดยรวมยังผิดปกติไม่มาก จนถึงระยะ 3-4 ขึ้นไปซึ่งการทำงานไตเสื่อมไปมากแล้วก็ตาม การรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต มีดังนี้

  1. การควบคุมโรคร่วมต่างๆ ให้อยู่ในภาวะปกติ และควรรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมความดันโลหิตไม่เกิน 130/80 mmHg (หรืออาจให้ความดันตัวบนน้อยกว่า 120 mmHg ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ) หรือ โรคเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วง 70-110 mg/dL หรือน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HBA1c) น้อยกว่า 6.5-7.0 ถ้าเป็นโรคเก๊าท์ พยายามอย่าให้โรคกำเริบ รักษาระดับกรดยูริกในเลือดให้ปกติ เป็นต้น
  2. การควบคุมอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคไตจะไม่เหมือนกับคนทั่วไป จะต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และป้องกันสภาวะขาดสารอาหาร แต่ก็ไม่มากจนเกินไปจนทำให้ไตทำงานหนักจากการขับของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนที่มากเกินไป ส่วนใหญ่มักต้องเริ่มมีการจำกัดโปรตีนเมื่อไตเสื่อมเรื้อรังระยะที่ 4 ขึ้นไป นอกจากนี้ยังต้องควบคุมให้ปริมาณโซเดียมและโพแทสเซียมอยู่ในระดับปกติ เพื่อควบคุมอาการบวม ความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
    หลีกเลี่ยงอาหารไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ ไขมันจากกะทิ เนย น้ำมันมะพร้าว ผลิตภัณฑ์นมเนยมาการีน และไข่แดง เป็นต้น รวมทั้งอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่างๆ ปูม้า ปลาซาดีน ปลาไส้ตัน น้ำอัดลม โยเกิร์ต ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนยแข็ง และนม นอกจากนี้ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
  3. การใช้ยาและสมุนไพรบางชนิด ยาบางชนิดหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียต่อไตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไตทำงานเสื่อมมากแล้ว และควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เช่น
    • ยาน้ำแก้ไอ ยาน้ำแก้ปวดท้อง ส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของสมุนไพร หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมของโพแทสเซียม ซึ่งจะมีปัญหาได้ในผู้ป่วยโรคไตที่มีโอกาสเกิดการคั่งของเกลือแร่โพแทสเซียมง่าย
    • ยาแก้ปวดลดอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกกันว่า NSAIDs มีผลทำให้ไตเสื่อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้
    • ยาระบายหรือยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมและแมกนีเซียม อาจทำให้เกิดการสะสมของเกลือแร่เหล่านี้จนเป็นพิษต่อร่างกาย
    • ยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ยาที่ต้องละลายน้ำ หรือวิตามินอื่นๆ เช่น ยาแอสไพรินชนิดเม็ดฟู่ วิตามินที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้รับประทาน อาจทำให้ร่างกายมีภาวะโซเดียม น้ำ และเกลือแร่เกินในร่างกาย
    • อาหารเสริมต่างๆ ยาจีน ยาแผนโบราณ และสมุนไพรต่างๆ อาจมีส่วนประกอบของเกลือแร่บาง หรือสารเคมีซึ่งทำให้เกิดการสะสมในร่างกายได้จนเกิดอันตรายต่อไต

    ทั้งนี้ญาติ ผู้ดูแล และผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งถึงรายการยา รวมทั้งวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร ที่ผู้ป่วยได้รับในปัจจุบัน
  4. การงดสูบบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น ส่งผลต่อระบบหลอดเลือดทั้งร่างกายรวมทั้งที่ไต ผู้ป่วยโรคไตจึงควรงดการสูบบุหรี่
  5. การออกกำลังกาย ผู้เป็นโรคไตสามารถออกกำลังกายได้ ตามความเหมาะสมแต่ต้องไม่รุนแรง และไม่เหนื่อยจนเกินไป เช่น การออกกำลังกายในร่ม การเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ซึ่งควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยค่อยๆเพิ่มเวลาจนสามารถออกกำลังกายได้ประมาณ30-60 นาที ต่อวัน รวมอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ และ และปรับความเข้มข้นของการออกกำลังกายเป็นแบบหนักปานกลาง (moderate intensity exercise) ขึ้นไป เช่น วิ่งเร็วพอประมาณ รู้สึกเหนื่อย แต่ยังพอพูดเป็นประโยคสั้นๆได้


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บำบัดทดแทนไต

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่อยู่ในระยะที่ 3 ถึงระยะที่ 5 รวมถึงผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดและผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

  1. การควบคุมน้ำหนักตัว ในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ปัสสาวะออกน้อยมากหรือไม่มีปัสสาวะแล้ว ถ้าหากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 กิโลกรัม (น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อวัน) มักจะมีอาการบวมน้ำ เหนื่อย ความดันโลหิตสูง อาการเหล่านี้จะมีความรุนแรงตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก เมื่อรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำเป็นต้องมีการดึงน้ำออกจากร่างกายมากและรวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือ ตะคริวและมักจะมีอาการเพลียได้ ส่วนในผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้องหากทำได้สม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพมักไม่ค่อยเกิดภาวะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีการขับน้ำจากการล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ตลอด ยกเว้นแต่ไม่คุมน้ำและล้างไตไม่สม่ำเสมอหรือไม่ถูกวิธี ส่วนผู้ป่วยที่รับการปลูกถ่ายไตมักจะยังมีปัสสาวะออกดีหรือยังตอบสนองด้วยการให้ยาขับปัสสาวะ จึงไม่ค่อยเจอภาวะบวมน้ำรุนแรง เว้นแต่การทำงานไตทรุดรุนแรงอย่างรวดเร็ว
  2. ดื่มน้ำและเครื่องดื่มให้พอดี โดยดูจากน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะที่ออกต่อวัน ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน น้ำหนักตัวควรคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่มาก ถ้าน้ำหนักตัวมากขึ้นต้องลดปริมาณเครื่องดื่มให้น้อยลง (รายที่ยังมีปัสสาวะออกดีอาจไม่มีปัญหาเรื่องบวม ยังสามารถทานน้ำเครื่องดื่มได้ตามปกติ แต่ไม่ควรเกิน 2-3 ลิตรต่อวัน)
  3. ควบคุมการรับประทานอาหาร เช่น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำมาก เช่น ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ซุป น้ำผลไม้
    • รับประทานอาหารรสอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม รสจัด
    • หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองเค็มและไม่เติมเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสเค็ม
    • ระมัดระวังในการรับประทานผักและผลไม้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด
  4. รับประทานยาที่แพทย์สั่งตามเวลาอย่างเคร่งครัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานอาหารเสริม ยาบำรุง สมุนไพร เพราะอาจเกิดอันตราย
  5. การป้องกันการติดเชื้อ เช่น
    • การรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณมือและเท้า
    • หมั่นทำความสะอาดแขนบริเวณที่ลงเข็มทุกครั้งที่มาทำการฟอกเลือด และรักษาแผลบริเวณที่ลงเข็มหลังจากการฟอกเลือด ดูแลไม่ให้แผลที่ปิดสายฟอกเลือด หรือสายล้างไตทางช่องท้องโดนน้ำ
    • กลุ่มเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ผู้ป่วยฟอกเลือดหากมีอาการปวดบริเวณเส้นฟอกเลือดและมีไข้ หรือผู้ป่วยล้างท้อง ถ้ามีอาการปวดท้องมีไข้ ถ่ายเหลว หรือ น้ำยาที่ปล่อยจากการล้างท้องสีขุ่นมีเลือดปน หรือผู้ป่วยปลูกถ่ายไตที่มีอาการผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อได้และบางรายอาจไม่มีไข้ได้
  6. ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติและควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้ารู้สึกเหนื่อยมากหรือใจสั่นให้หยุดทันที
  7. การสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะอยู่ที่บ้าน หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจรักษาอย่างทันที เช่น
    • อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมหน้ามืดง่าย
    • อาการแขนขาชา หรือไม่มีแรง
    • มีภาวะน้ำท่วมปอด เกิดจากมีน้ำและเกลือโซเดียมส่วนเกินคั่งทำให้น้ำท่วมที่ปอด จะมีอาการเหนื่อยหอบ ไอ นอนราบไม่ได้ ออกซิเจนในเลือดต่ำ
    • อาการชักเกร็งหรือวูบหมดสติ อาจเป็นโรคปัจจุบันของสมองหรือหัวใจ
    • อาการเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่กรามแขนซ้ายหรือหลังอาจเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
    • อาการใจสั่น ชีพจรเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากอาการของโพแทสเซียมในเลือดสูงจนเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตนเองนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาที่สำคัญมาก ผู้ป่วยโรคไตควรทำตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลที่ให้การดูแลการรักษาอย่างเคร่งครัด



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย