การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ อุบัติเหตุที่ป้องกันได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์

การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ อุบัติเหตุที่ป้องกันได้

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2564 และซึ่งในทุกปี มีผู้สูงอายุมากกว่า 3 ล้านคนประสบเหตุพลัดตกหกล้ม ด้วยสาเหตุจากความเสื่อมของร่างกายตามกาลเวลา ดังนั้น เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุจำเป็นที่ทำให้เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการเกิดการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ


ปัจจัยที่ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยภายนอก (external factors) ซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบตัวของผู้สูงอายุเองดัง เช่น พื้นลื่น/พื้นที่ต่างระดับ สิ่งกีดขวางทางเดิน รองเท้าไม่เหมาะสม แสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น

2. ปัจจัยภายใน (internal factors) เป็นปัจจัยเกี่ยวกับสภาพภายร่างกายที่เสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ ได้แก่ ประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทลดลง การมองเห็นไม่ชัด ความเสื่อมของกระดูกและข้อที่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวก ทรงตัวได้ไม่ดี นอกจากนี้หากบางรายมีภาวะกระดูกพรุนที่ ยังเพิ่มโอกาสเกิดการแตกหักได้ง่ายเมื่อหกล้มอีกด้วย

3. ปัจจัยส่งเสริม เช่น อายุมากขึ้น ผู้มีประวัติการหกล้ม/การกลัวการหกล้ม รวมถึงผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายและมักจะเกิดการหกล้มได้มากกว่า


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

  1. ผลกระทบทางจิตใจ เกิดความกลัว กังวลและน้อยใจในตนเอง ขาดความมั่นใจในการเคลื่อนไหว ด้วยความกังวลว่าไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือทำบางสิ่งบางอย่างได้เหมือนเดิม
  2. ผลกระทบที่เกิดกับร่างกาย เกิดได้ตั้งแต่อาการฟกซ้ำ มีบาดแผล เกิดการแตกหักของกระดูกไปจนถึงการบาดเจ็บที่ศีรษะจนกระทั่งเลือดคลั่งในสมอง ซึ่งต้องได้รรับการตรวจจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสเกิดความพิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และลดอัตราการเสียชีวิต


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

หกล้มแบบไหนที่ต้องได้รับการรักษา

การบาดเจ็บที่รุนแรงที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพกหัก ส่งผลให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ แผลกดทับ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักของกระดูกหักคือ โรคกระดูกพรุน มักจะไม่พบอาการมาก่อน มาพบอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหักขึ้น โดยที่ 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุที่เกิดปัญหากระดูกสะโพกหักจากการหกล้มมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 6 เดือนหลังจากการหกล้ม หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม (อ้างอิงสถิติจาก สวรส.)

ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาและผ่าตัดกระดูกสะโพกหัก ภายใน 24-48 ชั่วโมง และไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากเกิดความล่าช้าออกไปจะส่งผลให้เกิดการตายของกระดูกที่หัก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง (osteonecrosis) ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อน มีการติดเชื้อ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและเพิ่มอัตราการตายได้


อาการที่สงสัยว่ากระดูกสะโพกหักหลังหกล้ม

  • ปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก
  • ลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้
  • ลุกเดินไม่ได้
  • ขาข้างที่สะโพกหักจะสั้น ขาสองข้างไม่เท่ากัน

เมื่อญาติพบอาการดังกล่าว ให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทรเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยเพื่อจะได้รับการตรวจร่างกายและรักษาโดยเร็ว


การวินิจฉัยและการรักษากระดูกสะโพกหักด้วยการผ่าตัด

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและจะส่งตรวจตรวจพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ การถ่ายภาพรังสี (x-ray) เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์(computerized tomography:CT) คลื่นเสียงความถี่สูง (magnetic resonance imaging:MRI) จะช่วยในการตรวจการบาดเจ็บของกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ ในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลผู้ป่วยจะถูกจำกัดการเคลื่อนไหวโดยให้นอนพักบนเตียง และอาจได้รับการดึงถ่วงน้ำหนักขาข้างที่มีกระดูกสะโพกหักไว้เพื่อให้ขาข้างที่มีกระดูกสะโพกหักอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและลดอาการปวด

การประเมินก่อนการผ่าตัด ประกอบด้วยการประเมินการทำงานหัวใจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การส่งตรวจการทำงานปอดเบื้องต้น (Chest X-ray) ตรวจเลือดดูความดุลของสารน้ำและเกลือแร่ นอกจากการเตรียมผู้ป่วยแล้ว ต้องมีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือผ่าตัด และเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แพทย์ศัลยกรรม แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ วิสัญญีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ตลอดจนพยาบาลประจำหอผู้ป่วยจะเข้าร่วมประเมินผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับในทุก ๆ ด้านอย่างเป็นองค์รวม เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของพยาธิสภาพ ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยมากที่สุด

การผ่าตัดผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักควรกระทำภายใน 24-48 ชั่วโมง และไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากเกิดความล่าช้าออกไป จะส่งผลให้เกิดการตายของกระดูกที่หักเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง (osteonecrosis) ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อน มีการติดเชื้อ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและเพิ่มอัตราการตายได้


การดูแลเบื้อนต้นในการปฐมพยาบาลผู้สูงอายุที่เกิดการพลัดตกหกล้ม

  • ประเมินการตอบสนองโดยการเรียกชื่อผู้ป่วย ตรวจสอบสิ่งของภายในปากเช่น ฟันปลอม อาจมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ หากผู้สูงอายุหมดสติและไม่มีการตอบสนอง ให้ลองตบไหลสองข้างพร้อมเรียก หากยังไม่มีการตอบสนองให้ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือหรือโทร 1669 และให้ทำการนวดหัวใจทันทีจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึง
  • หากผู้สูงอายุยังมีสติ และไม่สามารถขยับตัวได้ และมีอาการปวดต้นคอ กล้ามเนื้อคอแข็งเกรง ไม่สามารถยกศีรษะจากท่านอนขึ้นลอยได้เลย (ห้ามขยับหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง) หากจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่เสียงภัยให้ เรียกขอความช่วยเหลือ หากไม่มี ให้พยุงต้นคอผู้ป่วยไม่ให้ขยับเกินจากแนวราบ(วิธีนี้ไม่แนะนำ) การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังควรมีผู้เชียวชาญช่วยหรือ คนช่วยมากกว่า 1 คนขึ้นไป
  • หากผู้สูงอายุมีบาดแผลควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและน้ำสบู่ ให้มากที่สุดและรีบน้ำผู้สูงอายุส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
  • หากพบว่าผู้สูงอายุมีการหักของกระดูกระยางค์ส่วนปลายเช่น แขน ขา ให้ดามอวัยวะนั้นกับแผ่นไม้กระดาน หรือของแข็งที่สามารถลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนปลายนั้นได้ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงจากความพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือต้องพึ่งพาผู้อื่น และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ60 ปีขึ้นไปควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม รู้สถานะความเสี่ยงของตนเอง และขอรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยฝึกการทรงตัวและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย