ยกระดับรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยเทคนิคระงับปวด

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกและข้อ

บทความโดย : นพ. นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์

ยกระดับรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยเทคนิคระงับปวด

ข้อเข่า เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะ ยืน เดิน หรือนั่ง หากข้อเข่ามีความผิดปกติ หรือเสื่อมสภาพลง อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหว และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty: TKA) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง ทำโดยการนำผิวข้อเข่าที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี ทั้งนี้ผู้ป่วยจะไม่เจ็บปวดหลังผ่าตัดเหมือนในอดีต เพราะผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย สามารถลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง


สัญญาณเตือนโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) อาการเริ่มจากปวดเป็นๆ หายๆ เมื่อได้พักการใช้เข่า อาการปวดก็จะทุเลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ในรายที่เป็นมากอาการปวดจะเป็นตลอดเวลา เกิดภาวะข้อฝืด มีเสียงดังในเข่า ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด ตามมาด้วยการเกิดข้อผิดรูป หัวเข่าเสื่อมบวมโต บางรายมีขาโก่งออกมา ปวดเข่าบ่อยๆ และปวดมากขึ้นตอนนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ ขึ้นลงบันได หรือคุกเข่า เข่าบวม เข่าอุ่น รู้สึกร้อนบริเวณเข่า และมีปัญหาในการใช้งานข้อเข่า เช่น ลุกนั่งม้าเตี้ย ขึ้นลงบันได รวมทั้งการเดิน

> กลับสารบัญ


ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • อายุ - อายุมากก็มีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก
  • เพศ - เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
  • น้ำหนัก - ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
  • การใช้ข้อเข่า - ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆ จะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า - ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ เนื่องจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง

> กลับสารบัญ


เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจุบัน การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก ซึ่งผิวข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนนั้นทำมาจากสเตนเลสผสมจำพวกนิเกิล โคบอล ไททาเนียม ส่วนหมอนรองกระดูกเทียมทำจากวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดพิเศษ (Polyethylene) ไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย น้ำหนักเบา และใช้งานได้คงทน เป็นที่รู้จักของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลก

> กลับสารบัญ


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด มีดังนี้

  • มีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสี
  • อาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม

1. ด้านร่างกาย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่แต่พออิ่ม ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน และยังคงต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
  • บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนให้แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา ออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดิน เดินเร็ว ว่ายน้ำ
  • ขี่จักรยาน รวมถึงการบริหารปอดโดยการหายใจลึกๆ ยาวๆ บ่อยๆ
  • ระวังการติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่อาจไปสู่ข้อเทียม หากมีปัญหาควรพบแพทย์รักษาก่อนผ่าตัด เช่น แผลตามร่างกาย ปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะซึ่งอาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ รวมถึงสุขภาพในช่องปาก ควรทำฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนให้เรียบร้อยก่อนผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน งดก่อนผ่าตัด 7 วัน หรือตามแผนการรักษา เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด

2. ด้านจิตใจ

  • ควรทำจิตใจให้ สงบ ผ่อนคลาย
  • หากมีเรื่องวิตกกังวล สงสัยเกี่ยวกับโรค การรักษา การดูแลตนเอง ค่าใช้จ่าย หรืออื่นๆ ควรซักถาม ปรึกษาแพทย์หรือ พยาบาล

3. การเตรียมผู้ดูแลหลังผ่าตัด และเตรียมปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

  • ควรเตรียมผู้ดูแลเพื่อช่วยเหลือในระยะหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือตามความเหมาะสม
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ควรนอนบนเตียงที่มีความสูงเสมอเข่า ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง ดูแลบ้านให้สะอาด เรียบร้อย ไม่มีของวางเกะกะ เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม ส้วมควรเป็นชักโครก เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนในการผ่าตัด

เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า (กระดูกส่วนของต้นขา หน้าแข้ง และสะบ้า) โดยแพทย์จะตัดส่วนของผิวข้อที่สึกหรอหรืออักเสบออกไป ซึ่งมีความหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียม แล้วจึงใส่ข้อเทียมด้านกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ทำด้วยโลหะอย่างดี โดยมีพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งทำหน้าที่คล้ายกระดูกอ่อน คั่นอยู่ระหว่างข้อเทียมที่เป็นโลหะ ส่วนข้อเทียมที่ใส่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าทำด้วยพลาสติกเช่นกัน และใช้ซีเมนต์พิเศษยึดระหว่างข้อเทียมกับกระดูกไว้ ดังนั้นข้อเทียมจึงมีความแข็งแรงและทนทานยาวนาน

ผลการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ

> กลับสารบัญ



ยกระดับการผ่าตัด ด้วยตัวช่วยระงับความเจ็บปวด ฟื้นตัวเร็ว หลังผ่าตัด

สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกังวล คือ การปวดแผลหลังผ่าตัด แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บปวดหลังผ่าตัดเหมือนในอดีต โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย ที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการระงับปวดด้วยวิธีผสมผสาน (multimodal analgesia) คือ การใช้ยาที่มีกลไกการ ออกฤทธิ์แตกต่างกันร่วมกัน จึงระงับปวดได้ดี และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ได้เป็นอย่างดี

ขั้นตอนการฉีดยาชาลดปวด จะใช้เข็มหรือใส่สายคาเพื่อให้ยาชาที่บริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย ยาชาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง สามารถลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล

เนื่องด้วยแนวทางดูแลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดในปัจจุบัน นอกจากคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยแล้ว ยังมุ่งเน้น ส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด การสกัดกั้นเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Blocks) จึงเป็นวิธีที่ช่วยควบคุมความปวดระหว่าง และ หลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ประมาณวันที่ 1-2 หลังทำผ่าตัดจะเริ่มหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง เป็นต้น

> กลับสารบัญ


การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า รักษาข้อเข่าเสื่อมเป็นการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง ทำได้โดยการนำผิวข้อเข่าที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียม จัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และด้วยนวัตกรรมที่ก้าวหน้าการผ่าตัดจึงไม่น่ากลัวอีกต่อไปเพราะมีตัวช่วยในการจัดการความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ด้วยการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยระงับความเจ็บปวด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหายได้เร็ว ลดการนอนโรงพยาบาล และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติเหมือนเดิม

นพ.นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์ นพ.นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์

นพ.นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์
ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์/ข้อสะโพกและข้อเข่า
ศูนย์กระดูกและข้อ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย