“จอตาเสื่อม” สัญญาณเตือนอายุที่มากขึ้น

ศูนย์ : ศูนย์จักษุ

บทความโดย :

“จอตาเสื่อม” สัญญาณเตือนอายุที่มากขึ้น

หากคุณอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีอาการดังนี้

  • สูญเสียการมองเห็นฉับพลัน หรือเห็นเงาดำตรงกลางภาพ
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเลือนราง
  • มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำ

รู้ไว้ คุณอาจมีความเสี่ยงเป็น “โรคจอตาเสื่อม” ได้


โรคจอตาเสื่อม คืออะไร?

โรคจอตาเสื่อม หรือที่จักษุแพทย์มักเรียกสั้นๆ ว่า เอเอ็มดี (Age-related macular degeneration:AMD) คือภาวะที่จอตาส่วนกลางเสื่อมสภาพลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยมักเกิดกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่น่ากังวลก็คือโรคนี้มักไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่หากปล่อยไว้นานโรคลุกลามไป อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นส่วนกลางได้

โรคจอตาเสื่อม แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. จอตาเสื่อมชนิดแห้ง

โรคจอตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) พบมากถึงร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมทั้งหมด แต่เป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นในระดับรุนแรงหรือตาบอดเพียงร้อยละ 10-15

ลักษณะการเกิดคือ การเสื่อมตามวัยที่จะส่งผลให้สารประกอบไขมันและโปรตีนที่ชั้นลึกของจอตา สะสมตัวจนเกิดจุดเหลืองทรงกลม (Drusen) กระจายอยู่ทั่วจอตา โดยเฉพาะบริเวณจอตาส่วนกลาง

อาการในระยะแรกมักยังสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ชัดนัก แต่เมื่อเข้าสู่ระยะกลาง จุดเหลืองเล็กๆ มักรวมกลุ่มกัน และส่งผลให้เกิดจอตาฝ่อ (RPE atrophy) ทำให้ระดับการมองเห็นแย่ลง เริ่มมองเห็นภาพบิดเบี้ยว ไม่คมชัด

ในกรณีของโรคจอตาเสื่อมชนิดแห้ง ปัจจุบันการรักษายังให้ผลได้ไม่น่าพอใจนัก เพราะทำได้เพียงลดความเสี่ยงการเกิดจอตาฝ่อโดยใช้ยากลุ่มวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ประกอบด้วยวิตามินซี วิตามินดี และสังกะสี เป็นต้น


2. จอตาเสื่อมชนิดเปียก

โรคจอตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยจอตาเสื่อมตามวัยทั้งหมด แต่เป็นสาเหตุหลักและทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นรุนแรงหรือตาบอดได้มากถึงร้อยละ 85-90 ทีเดียว

ลักษณะสำคัญของโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียกนี้คือ เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติใต้จอตา (Choroidal neovasculas membrane: CNVM) ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก หรือเกิดสารน้ำรั่วซึมออกมาขังที่ชั้นใต้จอตาจนส่งผลให้ตาบอดได้ในที่สุด

ปัจจุบัน การรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิดเปียกให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากการทำลายเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติใต้จอตาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการเลเซอร์ วิธีการโฟโตไดนามิก (Photodynamic therapy:PDT) แต่วิธีที่แพร่หลายและได้ผลการรักษาดีที่สุดในปัจจุบัน (Anti-VEGF) ซึ่งสามารถทำให้เส้นเลือดงอกใหม่ฝ่อและเพิ่มระดับการมองเห็นได้

> กลับสารบัญ


ตรวจเช็กความเสี่ยง! คุณมีโอกาสเป็นโรคจอตาเสื่อมหรือไม่

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นอกจาก ”อายุ” แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้คุณหรือคนที่คุณรักมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ : สามารถเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคได้ถึง 2 เท่า
  • เชื้อชาติ : โรคนี้พบบ่อยในกลุ่มคนยุโรป และคนแอฟริกา ในขณะที่ชาวเอเชียพบได้น้อยกว่า
  • พันธุกรรม : ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้มักมีโอกาสเกิดโรคได้สูงกว่า
  • ปัจจัยด้านร่างกาย : คนที่มีปัญหาทางกาย เช่น น้ำหนักเกิน หรือมีภาวะสายตายาวก็เพิ่มโอกาสการเป็นโรคนี้เช่นกัน

หากพบว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว อีกทั้งมีอาการที่ทำให้สงสัยว่ามีภาวะจอตาเสื่อม เช่น ตามัวบริเวณตรงกลาง หรือมองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมีเงาดำตรงกลางภาพ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ โดยเฉพาะจักษุแพทย์สาขาจอตา (Retina specialist) เพื่อทำการตรวจตาโดยละเอียด

> กลับสารบัญ


การตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่อง OCT (Optical coherence tomography)

เครื่อง OCT (Optical Coherence Tomography) เป็น เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ในการตรวจจอประสาทตา เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายภาพประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวาง เป็นภาพ 2 และ 3 มิติ โดยภาพที่ได้จากเครื่อง OCT จะให้ความละเอียดในการวินิจฉัยได้ถึงระดับ 10-15 ไมครอน (1 ไมครอน คือ 1/100 มิลลิเมตร) สามารถตรวจความหนาของชั้นจอประสาทตาและพยาธิสภาพ สามารถวินิจฉัยโรคจอประสาทตาอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน จอประสาทตาบาง เส้นเลือดดำที่จอประสาทตาอุดตัน ภาวะพังผืดที่จอประสาทตา ติดตามผลการรักษาโรคต้อหินในระยะยาวได้อย่างละเอียดและแม่นยำ และยังสามารถเห็นรายละเอียดบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำวุ้นตากับจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อีกด้วย โดยการตรวจด้วยเครื่อง OCT ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยาและสามารถดูเส้นเลือดในตาโดยไม่ต้องฉีดสี ตรวจง่าย ละเอียด รวดเร็ว

> กลับสารบัญ


การเตรียมตัวเมื่อมาพบจักษุแพทย์

  1. ควรเตรียมแว่นสายตาที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปด้วย เพื่อจักษุแพทย์จะได้สามารถประเมินระดับการมองเห็นได้อย่างแม่นยำ
  2. ไม่ควรมาคนเดียว เนื่องจากในการตรวจจอตาต้องมีการใช้เครื่องมือพิเศษ จักษุแพทย์ต้องขยายม่านตาด้วยการหยอดตา ส่งผลให้ตามัวต่อเนื่องประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงไม่ควรขับรถหรือเดินทางกลับโดยลำพัง
  3. กรณีที่จำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษด้วยการฉีดสี หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารทึบรังสี หรือเป็นโรคไต ควรแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบก่อนทำการตรวจ

> กลับสารบัญ




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย