วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดตอนไหนดีนะ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. ธิดารัตน์ แก้วเงิน

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดตอนไหนดีนะ

อีกหนึ่งโรคติดต่อยอดฮิตในเด็กเล็กคงหนีไม่พ้นกับ “โรคอีสุกอีใส” โรคที่จะมีตุ่มมากมายผุดขึ้นทั่วร่างกาย กับใบหน้า และน้ำใสจากตุ่มเหล่านั้นก็สามารถติดต่อไปยังคนอื่นได้ โดยทั่วไปจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน

โรคอีสุกอีใสยังสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงนอกเหนือจากเรื่องผิวหนังได้ด้วย เช่น ภาวะปอดอักเสบ และสมองอักเสบในทารกแรกเกิด วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่อยากให้ลูกน้อยของตัวเองต้องเผชิญกับโรคนี้ แบบนี้คงต้องให้ “วัคซีนอีสุกอีใส” เป็นตัวช่วยแล้ว แต่จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ต้องฉีดตอนไหนถึงจะมีประสิทธิภาพ ไปหาคำตอบกันค่ะ


มารู้จักโรคอีสุกอีใสกันก่อน

โรคอีสุกอีใส เป็น โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรืออาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มหรือแผลสุกใส หรือสัมผัสของใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่มที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย โดยหลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายอาการจะแสดงภายใน 10-21 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีตุ่มขึ้นทั่วไปตามลำตัว ใบหน้าและลามไปแขนขา ในระยะแรกจะขึ้นเป็นตุ่มแดงและคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มใส อาจพบตุ่มขึ้นในช่องปากและเยื่อบุต่างๆ ได้ และเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดหายไปในเวลา 5-20 วัน กลายเป็นจุดด่างดำ หรือรอยแผลเป็นได้

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคอีสุกอีใส

โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่ร้ายแรงและหายเองได้ ด้านการรักษานั้นจะรักษาตามอาการ ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอาจทำให้ระยะเวลาการเป็นโรคสั้นลง ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แพทย์มักพิจารณาให้ในรายที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  2. เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไฟริน
  3. แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน หรือ ทาคาลาไมน์ โลชั่น เพื่อบรรเทาอาการคัน
  4. ระวังอย่าให้ผู้ป่วยแกะหรือเกาเพราะอาจเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ แนะนำผู้ป่วยตัดเล็บให้สั้น

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นอีสุกอีใส ป้องกันได้อย่างไร

ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

> กลับสารบัญ


วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine/Chickenpox Vaccine) ที่ใช้ในปัจจุบันทำงานเชื้อมีชีวิต นำมาทำให้อ่อนฤทธิ์เพื่อเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใส ทั้งนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมีทั้งรูปแบบวัคซีนเดี่ยว (VZV) และวัคซีนรวม (MMRV) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสในเข็มเดียวกัน

> กลับสารบัญ


ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ตอนไหนดีนะ

วัคซีนสุกใสให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน ฉีดเข้าใต้ผิวหนังจำนวน 2 เข็ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี ในกรณีที่มีการระบาดของโรคสามารถฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ โดยห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
  2. เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นเดียวกัน โดยจะฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
  3. ปัจจุบันมีวัคซีนรวม วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 1-12 ปี จำนวน 2 เข็ม เหมือนวัคซีนสุกใสชนิดเดี่ยว

> กลับสารบัญ



ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

ผลข้างเคียงแบบทั่วไปหรือเล็กน้อย : หลังจากการฉีดวัคซีนจะมีอาการปวดแขน มีอาการปวด บวมแดง คัน หรือช้ำบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำ หรือเกิดผื่นขึ้นเล็กน้อย หากมีอาการเหล่านี้โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีน และ จะมีโอกาสเกิดน้อยลงเมื่อได้รับวัคซีนครั้งที่สอง

ผลข้างเคียงแบบรุนแรง : บางรายอาจเกิดอาการแพ้รุนแรง ชัก เกร็ดเลือดต่ำ สมองอักเสบ ผื่นทั่วตัว หรือปวดอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก

> กลับสารบัญ


ทั้งนี้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีผื่นอีสุกอีใสเกิดขึ้นได้ประมาณ 94-98% แต่ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้ว บางรายอาจเกิดผื่นอีสุกอีใสขึ้นได้ หลังจากไปสัมผัสโรค แต่พบว่าอาการของโรคในกรณีเช่นนี้จะเป็นไม่มาก เช่น มีผื่นขึ้นเพียงไม่กี่จุด (น้อยกว่า 50 จุด) ไม่ค่อยมีไข้ และไม่ค่อยเกิดแผลเป็น ทำให้หายป่วยได้เร็วกว่า นอกจากนี้เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เมื่อมีอายุมากขึ้นจะพบอุบัติการณ์ และความรุนแรงของการป่วยเป็นโรคงูสวัดน้อยกว่าเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสตามธรรมชาติ



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย