วัคซีนผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ ใครว่าไม่สำคัญ ป้องกัน..ดีกว่ารักษา
ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน
บทความโดย : นพ. นฤพงษ์ ตันติภิรมย์สิน
ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเรา มีความสำคัญต่อทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ โดย “วัคซีน” เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงสามารถปกป้องเราจากการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่และผู้สูงอายุหลายคนเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนเมื่อฉีดครบถ้วนในวัยเด็กแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอีก แต่ในความเป็นจริงวัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดนั้น ไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เพราะภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดนั้นจะเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น และอายุที่มากขึ้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สารบัญ
วัคซีนผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุจำเป็นแค่ไหน
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก เพราะเมื่ออายุมากขึ้นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคก็เพิ่มมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพจะลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูงขึ้น ดังนั้นในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุก็มีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคเช่นเดียวกัน ซึ่งการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่ดีกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงค่อยมาพบแพทย์เพื่อรักษา การลงทุนด้านการฉีดวัคซีน ถือว่าเป็นการลงทุนทางด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุด
ฉีดวัคซีนมีประโยชน์อย่างไร
- วัคซีนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
- วัคซีนปกป้องผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อที่สามารถทวีความรุนแรงได้
- ลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง
- ลดอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อ
- ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียจากการเกิดโรคที่อาจเกิดขึ้น
- โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนส่วนใหญ่เป็นโรคที่เป็นแล้วมีความรุนแรง รักษายาก เช่น โรคบาดทะยักในผู้สูงอายุ โรคไข้หวัดใหญ่ และปอดบวมในผู้สูงอายุ เป็นต้น
การฉีดวัคซีนให้เหมาะสมกับช่วงวัย
การฉีดวัคซีนในวัยผู้ใหญ่ หมายถึง ช่วงอายุ 20 – 60 ปี ควรได้รับวัคซีนเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เหมือนวัยเด็ก โดยวัคซีนจำเป็นที่ควรฉีดในวัยนี้ อาทิ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น
การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ร่างกายเริ่มจะอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ควรได้รับวัคซีนเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเช่นกัน โดยวัคซีนจำเป็นที่ควรฉีดในวัยนี้ อาทิ วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันงูสวัด เป็นต้น
วัคซีนที่ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุยุคนี้ควรได้รับ
ประกอบด้วย 6 วัคซีนดังนี้
1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ (Influenza vaccine)
แนะนำให้ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยสามารถฉีดในช่วงก่อนมีการระบาด โดยในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือช่วงฤดูฝน และช่วงฤดูหนาว สามารถฉีดในผู้ใหญ่ได้ทุกช่วงวัย
โดยสายพันธุ์ปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) Southern strain หรือ ซีกโลกไต้ ได้แก่
- ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria (H1N1) (an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus)
- ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Thailand (H3N2) (an A/Thailand/8/2022 (H3N2)-like virus)
- ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria (a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus)
- ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket (a B/Phuket/3073/2013 (B/Yamagata lineage)-like virus)
2. วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine)
เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส ที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แนะนำให้ฉีดแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยฉีด
- ชนิด PCV 13 ซึ่งครอบคลุมการป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) 13 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม
- ชนิด PPSV 23 ที่สามารถป้องกันเชื้อได้ 23 สายพันธุ์ จำนวน 1 เข็ม
การฉีดวัคซีนควรฉีดทั้ง 2 ชนิด ซึ่งจะฉีด PCV13 ก่อน 1 เข็ม จากนั้นอีก 1 ปี จะฉีด PPSV23 กระตุ้นอีก 1 เข็ม ซึ่งจะสามารถป้องเชื้อ Pneumococcus ได้ตลอด
3. วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap/ dT)
ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อการป้องกันโรคทั้ง 3 ชนิด โดยแนะนำให้ฉีด ดังนี้
- ควรฉีด วัคซีนคอตีบ - ไอกรน – บาดทะยัก (Tdap) วัคซีนรวม 1 ครั้งในผู้ใหญ่ โดยฉีด 1 เข็ม
- หลังจากนั้นฉีดวัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก (dT) ทุกๆ 10 ปี โดยฉีด 1 เข็ม
4. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Herpes zoster)
แนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด และผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน และผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต เนื่องจากคนกลุ่มนี้หากป่วยด้วยโรคงูสวัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ โดยฉีดเพียง 1 เข็ม
5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)
โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งตับ ที่มีอันตรายต่อชีวิต แนะนำให้ฉีดทุกคนที่ยังไม่มีภูมิ และในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือด ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศหรือมีคู่รักหลายคน ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกไต และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา โดยฉีด 3 เข็ม ซึ่งเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน (0, 1, 6)
6. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine)
โรคนี้ติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร แนะนำให้ฉีดทุกคนที่ยังไม่มีภูมิ และในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศหรือ มีคู่รักหลายคน ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกไต และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา โดยฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างกัน 6 เดือน (0, 6)
ตารางสรุปการฉีดวัคซีน
วัคซีน | กลุ่มอายุที่ควรฉีด | |
---|---|---|
ผู้ใหญ่ 20-5 ปี | ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป | |
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ | ||
วัคซีนนิวโมคอคคัส | PCV13 , PPSV23 |
|
วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก | Tdap , dT |
Tdap , dT |
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด | ||
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี | ||
วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ |
การฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของการเกิดโรค ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการฉีด เพื่อรับการตรวจร่างกายเบื้องต้น พร้อมรับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และข้อห้ามของวัคซีนแต่ละตัว เพื่อให้ได้รับประโยชน์และความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพนครธน