อันตรายจาก"ไวรัสตับอักเสบซี"ก่อให้เกิดตับอักเสบและตับแข็ง

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

อันตรายจาก"ไวรัสตับอักเสบซี"ก่อให้เกิดตับอักเสบและตับแข็ง

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการ ทำให้เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เกิดการดำเนินของโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจมีอาการน้อยและอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะสีเข้ม เป็นต้น จึงไม่ได้สนใจ หากไม่ได้ไปพบแพทย์หรือตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีตับอักเสบเรื้อรัง จนโรคจะดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะตับแข็ง ฉะนั้นการตรวจสุขภาพ และการเลือดเพื่อค้นหาความเสี่ยงไวรัสตับอักเสบซี


ไวรัสตับอักเสบซี ภัยเงียบที่ทำให้เกิดโรค

ไวรัสตับอักเสบซี นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับรองลงมาจากไวรัสตับอักเสบบี เป็นเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1 ถึง 6 โดยการแบ่งสายพันธุ์ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงแต่เกี่ยวกับการรักษา ซึ่งสายพันธุ์ 2 และ 3 เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อย ไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์ คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ติดต่อทางการไอจามรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน


อันตรายของไวรัสตับอักเสบซี

หลังจากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะมีระยะฟักตัวประมาณ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นจะดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดภาวะตับอักเสบ แต่ช่วงนี้มักไม่มีอาการอะไรชัดเจน ประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดังนั้นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบฉับพลันเพราะไม่มีอาการ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ติดเชื้อปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะตับแข็ง ซึ่งอาจกินเวลานานเป็น 10 - 30 ปี บางรายกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับแข็งแล้ว ซ้ำร้ายในผู้ป่วยบางรายอาการตับแข็งยังส่งผลให้เกิดมะเร็งตับอีกด้วย


ใครเสี่ยงเป็นไวรัสตับอักเสบซี

เนื่องจากไวรัสตับอักเสบซีติดต่อกันทางเลือด บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสได้รับเชื้อจึงมีได้หลากหลาย ได้แก่ มีประวัติได้รับเลือด เกร็ดเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดก่อนปี พ.ศ. 2533 ผู้ที่เคยมีประวัติในการรับเลือดหรือเกล็ดเลือดจากกรณีเจ็บป่วย ผ่าตัดหัวใจ หรือเสียเลือดมาก กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดชนิดฉีด การับบริการสักตามร่างกาย และการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เป็นต้น


รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

เบื้องต้นแพทย์เฉพาะทางทางเดินอาหารและตับ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้อต้น พร้อมกับการตรวจเลือดดูการทำงานของตับ หากผิดปกติ จะตรวจว่าเป็นตับอักเสบบีหรือซี ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบซีจะนำส่วนที่เป็นน้ำเหลืองไปตรวจหาภูมิต่อต้านไวรัสตับอักเสบซี หรือที่เรียกว่า แอนติ เอช ซี วี (Anti-HCV) ในรายที่ผลเป็นบวกควรยืนยันด้วยการการตรวจไวรัสตับอักเสบซีโดยตรงโดยตรวจดูปริมาณไวรัสและสายพันธุ์ไวรัส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษา จากนั้นแพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจทำอัลตราซาวด์ตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) ว่ามีพังผืดในตับ ไขมันพอกตับ และภาวะตับแข็งร่วมด้วยหรือไม่


เครื่องไฟโบรสแกน (Fibroscan) ค้นหาพังผืดในตับและภาวะตับแข็ง

ไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจโรคเกี่ยวกับตับโดยจะใช้เพื่อตรวจหาไขมันที่สะสมอยู่ในตับและภาวะพังผืดในเนื้อตับโดยเฉพาะ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหมือนกับการตรวจแบบเดิมๆ ที่ต้องใช้วิธีการเจาะตับ นอกจากนี้ก็สามารถตรวจก่อนป่วยได้อีกด้วย เพราะยิ่งตรวจก่อน รู้ก่อนก็จะยิ่งทำให้รักษาได้ทันและมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น


ไวรัสตับอักเสบซีรักษาหายขาด

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของตับ ปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสชนิดรับประทานที่ได้ผลดี สามารถรักษาจนหายขาดได้ โดยใช้ยารับประทานอย่างต่อเนื่องเพียง 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ก่อนการรักษาแพทย์อาจจะต้องตรวจดูปริมาณไวรัสร่วมกับการประเมินความรุนแรงของโรคตับเพื่อประเมินยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย หลังจากนั้นจึงเริ่มรับประทานยา และต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบ 12 สัปดาห์ ถ้าหากตับวาย หรือมะเร็งตับ แพทย์จะไม่รักษาด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะจะเน้นที่การรักษามะเร็งมากกว่า หรือหากมีภาวะตับวายการรักษาจะมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์


การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี จะเป็นแบบเรื้อรัง แพทย์ก็จะตรวจละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ทราบถึงการดำเนินของโรค และรายละเอียด ของการรับเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาอย่าง เหมาะสมต่อไป พร้อมกับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. รับประทานอาหารเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาดและครบทุกหมู่ นอกจากนั้นอย่าให้อ้วนเพราะจะมีไขมันคั่งตับทำให้ตับเสียหายมากขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงยาประเภท สเตรียรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่อาจกระตุ้นให้ไวรัสตับบีเพิ่มปริมาณมากขึ้นมากๆ โดยเฉพาะไวรัสตับ บี
  3. หลีกเลี่ยงอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น รวมถึงยาสมุนไพร ยาลูกกลอน และอาหารเสริมจำนวนมาก เพราะวิตามินบางชนิด หากรับประทานมากเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อตับได้
  4. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  5. ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนและตรวจอัลตราซาวด์ตับด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และ/หรือไฟโบรสแกน ทุก 6-12 เดือน
ทั้งนี้ เพื่อต้านไวรัสตับอักเสบซีสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น การใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด ไม่ใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบไวรัสตับอักเสบซี ให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที เพื่อลดการอักเสบของตับ และลดความเสี่ยงในการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย