เด็กออทิสติก หมั่นสังเกต รู้เร็วฝึกพัฒนาการได้

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. กุลนิดา เต็มชวาลา

เด็กออทิสติก หมั่นสังเกต รู้เร็วฝึกพัฒนาการได้

เด็กออทิสติก (Autistic) หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ภาษาและการสื่อความหมาย รวมถึงพฤติกรรมด้านอารมณ์ และจินตนาการซึ่งมีผลมาจากการทำงานในหน้าที่ของสมองบางส่วนที่บกพร่อง


สาเหตุภาวะออทิสติก

ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการเกิดภาวะออทิซึม มีข้อสันนิษฐานจากปัจจัยหลายประการ ที่ส่งผลให้การทำงานในหน้าที่ต่างๆ ของสมองไม่สมบูรณ์ อาการจะแสดงให้เห็นในเด็กอายุ 2-3 ปีหรือเร็วกว่านั้น ขึ้นกับการสังเกตของผู้ปกครอง และการนำมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย


ลักษณะอาการเด็กออทิสติก

มีลักษณะอาการหลายประการประกอบกันซึ่งอาจพบได้ ดังนี้

  1. ลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลน้อย เช่น การไม่มองสบตา เฉยเมย ไม่แสดงสีหน้าท่าทางหรือกิริยาอาการเมื่อมีผู้ทักทาย เล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนไม่ค่อยเป็น ไม่สนใจทำงานร่วมกับใคร มักจะแยกตัวอยู่คนเดียว
  2. ลักษณะการสื่อสาร พูดช้ากว่าวัย ความเข้าใจภาษาหรือการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารมีน้อย บางคนมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งคนอื่นฟังไม่รู้เรื่องบางคนไม่พูดเลยหรือพูดได้เป็นคำๆ มีพูดเลียนแบบหรือทวนคำถามพูดซ้ำๆ แต่สิ่งที่ตนเองเข้าใจ ใช้ระดับเสียงพูดระดับเดียวตลอด
  3. มีพฤติกรรมซ้ำๆ ผิดปกติ ซึ่งเป็นพฤติกรรมกระตุ้นตนเอง เช่น เล่นมือ โบกมือไปมา หมุนตัวไปรอบๆ หรือเดินเขย่งปลายเท้ายึดติด ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน หมกมุ่นติดสิ่งของบางอย่าง
  4. ลักษณะทางอารมณ์ มีการแสดงออกทางอารมณ์ไม่เหมาะสมกับวัย ควบคุมอารมณ์หรือแสดงความรู้สึกไม่เหมาะสม เช่น หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่สามารถบอกเหตุผลได้ หรือมีอารมณ์โกรธเมื่อสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้หรือไม่เข้าใจ

2. ความดื้อ เป็นความรู้สึกต่อต้านโดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-3 ปี ซึ่งอยู่ในระยะปฏิเสธ ไม่ยอมใคร จะดื้ออย่างที่เขาต้องการทำเท่านั้น อาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บังคับเกินกว่าเหตุตั้งกฎเกณฑ์มากเกินไป

วิธีแก้ไข

  1. ผู้ใหญ่พ่อแม่ควรร่วมมือกันในการอบรมเด็กไม่ขัดแย้งกันไม่กล่าวโทษกัน
  2. ตั้งกฎเกณฑ์ที่เด็กสามารถทำได้ตามวัย
  3. เวลาเด็กทำอะไรควรช่วยแนะนำในแนวทางที่เหมาะสมด้วยเหตุด้วยผล
  4. งดการดุและการลงโทษพร่ำเพรื่อไม่บังคับเด็กจนเกินไป
  5. ให้คำชมเชยหรือรางวัลเมื่อเด็กทำดี

ระดับอาการของเด็กออทิสติก

ระดับอาการโดยทั่วไปจำแนกเป็น 3 ระดับดังนี้

  1. ระดับกลุ่มที่มีอาการน้อย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีระดับสติปัญญาปกติหรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น แต่ยังมีความบกพร่องในทางทักษะสังคม การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น บางครั้งเรียกว่า กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High function) สำหรับแอสเพอเกอร์ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาและการเรียนรู้อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีข้อบกพร่องทางการปฏิสัมพันธ์กับสังคมอยู่บ้าง
  2. ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง กลุ่มนี้จะมีอาการล่าช้าในการพัฒนาการทางด้านภาษา การสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้และการช่วยเหลือตนเอง และจะมีพฤติกรรมกระตุ้นตนเองพอสมควร
  3. ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง กลุ่มนี้มักจะมีความล่าช้าในการพัฒนาการเกือบทุกด้าน ตั้งแต่วัยเด็กและอาจเกิดร่วมกับภาวะอื่น เช่น ภาวะปัญญาอ่อน หรือบางคนมีปัญหาทางอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง

ภาวะออทิสติกมีอาการแตกต่างกันหลายระดับ ตั้งแต่น้อยไปหามาก และสามารถมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ได้อาการจึงเปลี่ยนไปตามวัยของเด็ก ทำให้การวินิจฉัยของแพทย์จึงแตกต่างไปได้ขึ้นกับว่าจะพบเด็กเมื่อวัยใด ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรยึดติดเพียงว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ เป็นการยอมรับว่าลูกมีพัฒนาการบางอย่างที่บกพร่องหรือล่าช้าไป และช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกพบและฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมและใกล้เคียงปกติที่สุด


แนวทางการรักษา

  1. การใช้ยารักษา การใช้ยาเพื่อบำบัดปัญหาพฤติกรรมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรักษาโรคให้หายขาด โดยจะมีการใช้ยาเฉพาะรายที่มีความจำเป็น เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชนอยู่ไม่นิ่ง
  2. การกระตุ้นพัฒนาการ โดยการประเมินความสามารถของเด็กในทุกๆ ด้าน พร้อมฝึกกระตุ้นพัฒนาการด้านที่เด็กบกพร่อง โดยทีมผู้รักษา เช่น การฝึกพูดกิจกรรมบำบัดและพฤติกรรมบำบัด
  3. การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และการช่วยเหลือครอบครัว
  4. การจัดการศึกษาที่เหมาะสม เช่น การศึกษาพิเศษ การเรียนร่วมกับเด็กปกติ ฝึกอาชีพ

หลักการช่วยเหลือเด็กออทิสติก มีจุดมุ่งหมายสำคัญ ดังนี้

  1. การกระตุ้นเด็กออทิสติกตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้พัฒนาการที่หยุดยั้ง ได้พัฒนาเป็นปกติตามวัย
  2. การลดพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กออทิสติก โดยใช้พฤติกรรมบำบัดและกิจกรรมอื่นๆ ทดแทน
  3. กระตุ้นให้เด็กออทิสติกเข้ากลุ่มในวัยเดียวกัน เพื่อพัฒนาด้านสังคมและอารมณ์
  4. การฝึกให้เด็กพูดและสามารถสื่อความหมายทางภาษาพูด โต้ตอบปฏิบัติตามคำสั่งได้
  5. เด็กออทิสติกที่มีปัญหาการนอน มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง หรือมีปัญหาอารมณ์รุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ แพทย์จะเป็นผู้ให้ยาด้วยความระมัดระวัง
  6. ในเด็กออทิสติกที่มีพฤติกรรมต่างๆ ดีขึ้น และมีอายุอยู่ในวัยเรียน การศึกษาพิเศษก่อน ให้เด็กได้มีทักษะการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อฝึกความพร้อมเบื้องต้นจึงส่งเรียนร่วมกับเด็กปกติต่อไป เด็กปกติจะเป็นแบบอย่างให้เด็กออทิสติกเป็นอย่างดี

บทบาทผู้ปกครองเด็กออทิสติก

การให้ความช่วยเหลือเด็กออทิสติก ถือเป็นภารกิจสำคัญของครอบครัวที่จะต้องมีบทบาทสำคัญ นอกเหนือจากทีมผู้รักษา ดังนั้น ความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กออทิสติก ความเข้าใจแนวทางการช่วยเหลือ จะทำให้ครอบครัวสามารถช่วยเหลือเด็กออทิสติกในความดูแลได้อย่างถูกทางมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่ครอบครัวพึงตระหนัก คือ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของครอบครัว โดยต้องคิดเสมอว่าครอบครัวสามารถช่วยเหลือลูกได้ และต้องเชื่อมั่นว่าเด็กออทิสติกที่อยู่ในความดูแลมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรกพบและต่อเนื่อง

สำหรับในเด็กทั่วๆ ไป หากผู้ปกครองสงสัยในพฤติกรรมบางอย่าง หรือพัฒนาการทางภาษาและสังคมที่ดูช้าไป หรือแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันจนสังเกตได้ ผู้ปกครองสามารถพาเด็กพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อการประเมินและให้คำแนะนำช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ ตามหน่วยจิตเวชเด็กของโรงพยาบาล


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย