พูดถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หลายคนคงคุ้นชื่อกันดี แต่อาจยังไม่รู้ว่าสาเหตุการเกิดโรคนี้คืออะไร? วัยไหนเป็นได้บ้าง? ถ้าเป็นแล้วจะต้องรักษาอย่างไร? ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นดีกว่า
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายข้อตัวเอง มีการอักเสบของร่างกายร่วมกับการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ การอักเสบนี้ก่อให้เกิดการทำลายของกระดูกอ่อน กระดูกรอบข้อ และเนื้อเยื่อรอบข้อ เช่น ถุงน้ำและเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ภาวะอักเสบนี้ทำให้เยื่อบุภายในข้อหนาตัว กระดูกพรุน ข้อยึดติดผิดรูปและพิการได้ นอกจากนี้ยังมีอาการเกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ ในร่างกายได้อีก เช่น ตา เส้นประสาท หรือกล้ามเนื้อ โดยโรครูมาตอยด์ในประเทศไทยพบอัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยมีอัตราส่วนประมาณ 3:1 และช่วงอายุที่พบบ่อยคือ ช่วงอายุ 20-50 ปี
ทั้งนี้สาเหตุของการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- กรรมพันธุ์
- การติดเชื้อ
- ฮอร์โมนเพศ (ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า)
- สิ่งแวดล้อมอื่นๆ
อาการแบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์
อาการของโรคนี้จะเห็นได้ชัดจากความผิดปกติเกี่ยวกับข้อ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- มีอาการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อในร่างกายหลายข้อพร้อมกันและเป็นติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์
- บริเวณอักเสบส่วนใหญ่ จะเป็นข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อเข่า โดยจะมีอาการปวดบวมและเมื่อกดจะมีอาการเจ็บบริเวณข้อที่อักเสบ
- ข้อฝืดตึงไม่สามารถขยับตัวได้สะดวก โดยเฉพาะในเวลาหลังตื่นนอนตอนเช้าและต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชม. อาการข้อฝืดตึงจึงจะเริ่มดีขึ้น
- มีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยทั้งตัว น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ
การรักษาโรครูมาตอยด์
1.รักษาด้วยกายภาพบำบัดข้อ
- หากเพิ่งเริ่มเป็น สามารถดูแลรักษาด้วยการประคบร้อน หรือแช่ข้อที่ปวดอักเสบกับน้ำอุ่น
- ในเวลากลางคืนหรือตอนที่มีอาการปวดมากๆ ควรใส่เฝือกชั่วคราว เพื่อลดอาการปวดและป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดรูป
- ควรหมั่นขยับตัว เคลื่อนไหวให้มากเพื่อไม่ให้ข้อติด ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- เปลี่ยนประตูแบบลูกบิดมาใช้แบบเลื่อน ก๊อกน้ำเปลี่ยนมาเป็นแบบคันโยกแทนการหมุน จะไม่ทำให้อาการของโรคเกิดความรุนแรงหนักขึ้น
2. การใช้ยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ การใช้การรักษาด้วยยาค่อนข้างช่วยลดอาการปวดบวมของข้อได้อย่างดี แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ แสบท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในปัจจุบันมียาที่ส่งผลต่อกระเพาะอาหารน้อยลงแต่ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งควรพิจารณาใช้กับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่เคยเป็นแผลทางเดินอาหารมาก่อน
3. การรักษาด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มนี้ใช้ได้ทั้งกินและฉีดและมีผลข้างเคียงรุนแรง อาการที่พบคือ กระดูกพรุน ติดเชื้อง่าย ซึ่งจะนำมาใช้รักษาเมื่ออาการอักเสบรุนแรง ไม่ควรใช้ติดกันเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณที่สูง เมื่อพบว่าอาการทุเลาก็ควรลดปริมาณให้น้อยลง
4. รักษาด้วยยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์แต่ออกฤทธิ์ช้า แพทย์จะพิจารณานำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยา แต่มีข้อเสีย คือ ออกฤทธิ์ช้า ต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนจึงเริ่มเห็นผล กรณีที่ต้องใช้ยากลุ่มนี้จริงๆ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
5. การผ่าตัด มีด้วยกันหลายวิธี เช่น ผ่าตัดกระดูกเพื่อปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดเพื่อเลาะเอาเยื่อบุข้อที่มีอาการอักเสบออก ผ่าตัดเพื่อเชื่อมข้อให้ติดกันหรือใส่ข้อเทียมแทน ผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น
การที่คนเราจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ควรเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ควรเริ่มเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยการดูแลเบื้องต้นเริ่มจาก ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ส่งผลให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน หากมีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนัก และต้องได้รับอาหารที่มีแคลเซียม วิตามิน D และวิตามิน C อย่างเพียงพอ ที่สำคัญควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม