6 คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไตเทียม กินอย่างไรให้พอดี?

ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย :

อาหารผู้ป่วยโรคไต

สำหรับผู้ป่วยไตเทียมจะต้องมีการควบคุมปริมาณโปรตีนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกายและป้องกันสภาวะขาดสารอาหาร นอกจากนี้ยังต้องควบคุมให้ปริมาณโซเดียมและโปเเตสเซียมอยู่ในระดับปกติ เพื่อควบคุมอาการบวม ความดันโลหิตสูง ป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุภาพดี สามารถใช้ชีวิตและการทำงานได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้จักการบริโภคที่ถูกต้องดังนี้


1. โปรตีน

โปรตีนเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื้อทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเสียซึ่งจะถูกขับออกทางไต ถ้าไตเสื่อมจะทำให้ของเสียคั่งและไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดไป

ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมเนื่องจากร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงจำพวกไข่ขาว รับประทานไข่ขาววันละ 2 ฟอง เนื่องจากย่อยและดูดซึมง่าย เนื้อสัตว์ แต่ควรเป็นชนิดไม่ติดมันและหนัง ทางที่ดีควรเลือกบริโภคจำพวกเนื้อปลา เพราะย่อยง่าย มีไขมันอิ่มตัวน้อย ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารโปรตีนคุณภาพต่ำ เช่น เนื้อแดง เนื้อที่ถูกแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ


2. คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ซึ่งต้องได้รับให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายนำโปรตีนมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยผู้ป่วยที่มีน้ำหนักปกติควรได้รับข้าวสุกมื้อละ 3 ทัพพี อาจสลับกับก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ถ้าเลือกก๋วยเตี๋ยวสามารถรับประทานได้มื้อละ 1-2 ชาม


3. โซเดียม

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรรับประทานอาหารจำกัดเกลือหรืออาหารจำกัดโซเดียม เพราะอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาหารที่มีโซเดียมมากซึ่งควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานน้อย ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส ซอสปรุงรส หรือผงชูรส อาหารหมักดอง


4. โปแตสเซียม

เนื่องจากโปแตสเซียมถูกขับออกทางไต กรณีที่ไตเสื่อมทำให้เกิดการคั่งของโปแตสเซียม ถ้าระดับโปแตสเซียมสูงมาก จะทำให้เกิดความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ การหดคลายตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ ทั้งนี้โปแตสเซียมเป็นสารอาหารที่มีมากในผักและผลไม้ ถ้าโปแตสเซียมในร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 5.5 mg/dl ควรจำกัดผลไม้ทุกชนิด ผักใบเขียว ผักประเภทหัว เช่น เผือก มันฝรั่ง เป็นต้น


5. ฟอสฟอรัส

ผู้ป่วยไตวายมักมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายฟอสฟอรัส ซึ่งถ้ามีปริมาณฟอสฟอรัสมากและแคลเซียมต่ำจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งพาราไทรอยด์ออกมา ทำให้มีการสลายแคลเซียมจากการกระดูกเสื่อม ปวดกระดูก กระดูกเปราะบางและหักง่าย ส่วนอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่างๆ ปูม้า ปลาซาดีน ปลาไส้ตัน น้ำอัดลม โยเกิร์ต ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เนยแข็ง และนม


6. น้ำดื่ม

ป่วยไตวายเรื้อรังจะมีปัญหาเรื่องการขับปัสสาวะลดลงหรือขับไม่ได้เลย ทำให้มีของเหลวคั่งในร่างกาย เกิดอาการบวมและเกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณน้ำให้พอดี โดยพิจารณาจากจำนวนปัสสาวะของวันที่ผ่านมาและพิจารณาน้ำที่ได้จากอาหารในแต่ละมื้อ สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้จะไม่มีผลต่อไตโดยตรง แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเป็นประจำ เพราะมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เฉพาะตับดูดซึมวิตามินลดลง และสุขภาพทรุดโทรม ในขณะที่บางคนอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมระดับความดันโลหิต


สรุปได้ว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียม ควรปฏิบัติตัวในการเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้

  1. รับประทานปลา ไข่ขาว เนื้อไก่ เนื้อหมู กุ้ง เป็นประจำทุกมื้อในปริมาณให้มากเพียงพอไม่ต้องจำกัดเหมือนผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ยังไม่ได้ฟอกเลือด
  2. รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง หรือแป้งอื่นๆ ให้เพียงพอทุกมื้อ
  3. รับประทานอาหารรสอ่อน ไม่เค็ม หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองเค็มและไม่เติมเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสเค็ม
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเครื่องในสัตว์ ไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง รวมทั้งเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน
  5. รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือหนัง (เน้นเนื้อขาวมากกว่าเนื้อแดง)
  6. เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง ในการประกอบอาหารผัดหรือทอด หลีกเลี่ยงอาหารใส่กะทิ
  7. เลือกรับประทานผักสีอ่อนๆ เช่น บวบ แตงกวา ฟักเขียว มะระ
  8. เลือกรับประทานผลไม้ที่มีโปรแตสเซียมต่ำ เช่น องุ่น ชมพู่ แอปเปิ้ล ตามปริมาณที่แนะนำระหว่างหรือหลังการฟอกเลือด
  9. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอ
  10. รับประทานอาหารสดและไม่ควรรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการถนอมอาหารที่ใช้เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊ว
  11. การปรุงอาหารเติมเกลือได้ 1 ช้อน/วัน หรือ 1/3 ช้อนชา/มื้อ หรือเติมน้ำปลา ซีอิ๊วได้ 1 ช้อนชา/มื้อ แทนการเติมเกลือ
  12. งดอาหารว่างที่ออกรสเค็มทุกชนิด อาหารหมักดองทุกชนิด รวมทั้งกับแกล้มและอาหารโรยเกลือ
  13. ไม่ใช้ผงชูรสในการประกอบอาหาร
  14. ดื่มเครื่องดื่มให้พอดีโดยดูจากน้ำหนักตัว ปริมาณปัสาวะที่ออกต่อวัน ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน น้ำหนักตัวควรคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่มาก ถ้าน้ำหนักตัวมากขึ้นต้องลดปริมาณเครื่องดื่มให้น้อยลง

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย