ERCP รักษา “นิ่วในท่อน้ำดี” ไว ไม่ปวดท้องเรื้องรัง

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม

บทความโดย : นพ. วัชระ พงษ์สงวนสุข

ERCP รักษา “นิ่วในท่อน้ำดี” ไว ไม่ปวดท้องเรื้องรัง

โรคนิ่วในระบบทางน้ำดีนั้นมักจะเกิดที่ถุงน้ำดี หากไม่ได้รับการรักษาก่อนหรือปล่อยนานไป ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีนั้นก็จะหลุด หรือตกลงมาอุดตันตามส่วนต่างๆ ในทางเดินน้ำดี เกิดเป็น “นิ่วในท่อน้ำดี” ขึ้นมา ทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน ในบางครั้งนิ่วในท่อน้ำดีอาจเป็นสาเหตุของการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ ทำให้การรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น แต่ในปัจจุบันการรักษานิ่วในท่อน้ำดีสามารถทำได้ด้วยวิธี ERCP การส่องกล้องตรวจรักษาทางเดินน้ำดีและตับอ่อน ที่สามารถลดระยะเวลาการฟื้นตัวสั้นลง ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย รักษาตรงจุด ผลการรักษาดี


นิ่วในท่อน้ำดี มีอาการอย่างไร

การอุดตันของท่อน้ำดีนั้น สามารถอุดตันในระบบน้ำดีตำแหน่งใดก็ได้ ทั้งภายในตับและภายนอกตับ แต่ส่วนใหญ่มักพบในท่อน้ำดีภายนอกตับส่วนปลาย เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี จะทำให้น้ำดีไม่สามารถเข้าไปสู่ทางเดินอาหาร จึงมีการดูดซึมเขาสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองนั่นเอง ซึ่งอาการแสดงของภาวะนิ่วในท่อน้ำดี จะมีอาการปวดท้อง อาจปวดเป็นพักๆ หรือบางทีก็ปวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร และอาการอื่นๆ ดังนี้

  • อาการปวดท้องรุนแรงมากขึ้น และปวดร้าวไปด้านหลัง โดยเฉพาะด้านขวา
  • คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก ใจสั่น คล้ายอาการนิ่วในถุงน้ำดี
  • หากท่อน้ำดีส่วนปลายเกิดการอุดตัน จะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง มีไข้ และมีปัสสาวะสีเข้มที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในท่อน้ำดีร่วมด้วย

การรักษานิ่วในท่อน้ำดีด้วย ERCP

เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี จะทำการรักษาด้วยการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน หรือ ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography) เป็นการส่องกล้องตรวจ และรักษาโรคระบบทางเดินน้ำดีและตับอ่อน โดยการฉีดสี ด้วยการใช้กล้องส่องเข้าทางปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ส่วนเล็กตอนต้นจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็กแล้วฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพเอกซเรย์ไว้ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน

ซึ่งขั้นตอนการรักษานิ่วในท่อน้ำดีนั้นแพทย์จะส่องกล้องผ่านทางปาก จากนั้นใช้บอลลูนหรือตะกร้อลวดขนาดเล็กเกี่ยวเอานิ่วออกจากท่อน้ำดี และปล่อยให้นิ่วลงไปตามลำไส้ โดยนิ่วจะออกมาจากร่างกายผ่านการขับถ่าย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดแผลผ่าตัดที่ใหญ่จากการรักษานิ่วในท่อน้ำดี แต่หากพบก้อนกดเบียดท่อน้ำดี รักษาโดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณก้อนเพื่อส่งตรวจ และใส่ท่อระบายน้ำดีเพื่อลดอาการตัวเหลืองตาเหลือง การรักษามีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ ลดเวลาการฟื้นตัว กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การเตรียมตัวก่อนการรักษา

  1. ผู้ป่วยต้องได้ปรึกษากับแพทย์เรื่องโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคหอบหืดเป็นต้น เพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาผู้ป่วย
  2. ต้องแจ้งให้แพทย์เรื่องประวัติการแพ้ยา อาหารทะเล หรือสารทึบแสงรังสี ซึ่งผู้ป่วยแพ้อาหาร หรือสารทึบสี ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้สารทึบสีชนิดพิเศษ
  3. กรณีผู้ป่วยที่มียาที่ใช้โรคประตัวเฉพาะกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ผู้สั่งยา เพื่อพิจารณาใช้หรือหยุดยาก่อนทำการตรวจรักษา เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่าย
  4. งดน้ำ และอาหารก่อนเวลาตรวจ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง (กรณีต้องทำตอนบ่ายให้รับประทานอาหารเหลว เวลา 6.00 น. และจึงงดอาหารและน้ำ)
  5. ในกรณีที่ผู้ป่วยสวมฟันปลอม ชนิดทั้งชุดหรือชนิดแน่นบางส่วนให้ถอนออกทุกครั้ง ก่อนทำการส่องกล้อง หรือในกรณีผู้ป่วยมีฟันโยก กรุณาแจ้งแพทย์เจ้าของไข้เพื่อพิจารณาถอนฟันก่อนการส่องกล้อง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหลุดของฟัน
  6. ควรมีญาติสายตรงมาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเซ็นใบยินยอม ไม่สามารถรับคำแนะนำจากแพทย์ หรือแพทย์ต้องการสอบถามอาการของผู้ป่วยจากญาติผู้ป่วยโดยตรง

การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

  1. ผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาลต่อหลังจากทำหัตถการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดแน่นท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน หรือมีไข้สูงหลังจากทำหัตถการ
  2. ให้ผู้ป่วยนอนพักบนเตียงประมาณ 60 นาที หรือจนกว่าจะตื่นดี จึงสามารถกลับห้องพักได้
  3. โดยทั่วไปจะมีการงดน้ำและอาหาร หลังทำการส่องกล้องตรวจท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือจนกว่าแพทย์จะแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือภาวะติดเชื้อในท่อน้ำดี โดยจะเริ่มจากให้จิบน้ำ ถ้าไม่มีอาการปวดท้องจะเริ่มให้ทานอาหารต่อไปตามลำดับ
  4. ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามการนัดหมาย
  5. ควรหลีกเลี่ยงอาหารร้อน และควรรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ประมาณ 2-3 วัน

ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้

ผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการส่องกล้องรักษานิ่วในท่อน้ำดี ได้แก่

  • เจ็บคอ สาเหตุจากการเสียดสีของกล้อง
  • คอชา เกิดจากยาชาเฉพาะที่
  • ท้องอืด อาการนี้เกิดขึ้นได้บ่อยเนื่องจากแพทย์ต้องเป่าลมเข้ากระเพาะอาหารและลำไส้ขณะทำการส่องกล้อง แต่ อาการนี้เกิดขึ้นชั่วคราวอาการจะดีขึ้น เมื่อร่างการขับลมออกมา
  • ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หลังส่องกล้อง 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีเอ็นไซน์ของตับอ่อนสูง โอกาสเกิดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันประมาณ 3-5 % ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือผู้ป่วยหญิง และผู้ป่วยที่มีอายุน้อย
  • ลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุ โอกาสเกิดความเสียง 1% ภาวะเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้น เนื่องจากมีการตัดทางเปิดของท่อน้ำดี
  • ภาวะเลือดออกอาจเกิดขึ้นทันที หรือเกิดขึ้นหลัง 24 ชั่วโมงหลังส่องกล้อง ผู้ป่วยที่รับประทานยาในกลุ่มละลายลิ้มเลือดจะเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้น โอกาสเกิดภาวะเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้นประมาณ 2.5 -5%
  • ติดเชื้อหลังส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง มีไข้ ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตันของท่อน้ำดี และความระบายน้ำดีเท่าที่ควร และสามารถเกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 5 -10% โดยปกติจะมีการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อก่อนทำการส่องกล้อง ซึ่งสามารถลดภาวการณ์ติดเชื้อได้อย่างมาก
ทั้งนี้ หากตรวจพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี ควรตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ก้อนนิ่วหลุดมาอุดตันท่อน้ำดีได้ รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ตัวและตาเหลือง ปวดท้อง ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือไม่ หากมีควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทางเดินอาหารและตับทันที



นพ.วัชระ พงษ์สงวนสุข
ศัลยศาสตร์/ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี
ศูนย์ศัลยกรรม






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย