ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว รักษาด้วย MitraClip ผ่านทางสายสวน
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Valve Regurgitation) เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจไมตรัล ซึ่งอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ปิดได้ไม่สนิท ทำให้เลือดที่ควรจะไหลไปยังร่างกาย ไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหัวใจห้องบนซ้าย แทน ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น และถ้าปล่อยไว้อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ปัจจุบันมีวิธีการรักษาภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ด้วย MitraClip ซึ่งเป็นการใส่คลิปหนีบลิ้นหัวใจไมตรัลผ่านทางสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดทรวงอก สามารถลดการรั่วของลิ้นหัวใจไมตรัล ช่วยบรรเทาอาการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สารบัญ
สาเหตุของลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว
ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลานอนราบหรือออกแรง หอบเหนื่อยกลางคืน ใจสั่น เจ็บหน้าอก ขาบวม เท้าบวม หน้ามืด เป็นลม โดยมีสาเหตุจาก การเสื่อมของลิ้นหัวใจ หรือผู้ที่มีลิ้นหัวใจไมตรัลหย่อน โรคหัวใจรูห์มาติค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจโต การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด เช่น Atrial fibrillation
ทำไมต้องรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว
เพราะถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ โดยเหตุผลที่ต้องรักษา ได้แก่
- ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเลือดไหลย้อนกลับ หัวใจห้องล่างซ้ายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด ซึ่งเมื่อเป็นนานๆ หัวใจจะโตและอ่อนแรง จนนำไปสู่ หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยลิ้นรั่วทำให้หัวใจห้องบนซ้ายขยาย เกิด ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation) เสี่ยงต่อ ลิ่มเลือด และ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- ลดอาการรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น เหนื่อยง่าย หอบเมื่อนอนราบ ใจสั่น อ่อนเพลีย ทำให้ใช้ชีวิตลำบาก เมื่อรักษาแล้วอาการมักดีขึ้นอย่างชัดเจน
- ยืดอายุและคุณภาพชีวิต การรักษา โดยเฉพาะการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ในผู้ที่มีลิ้นรั่วระดับมากหรือมีอาการ จะช่วยให้หัวใจฟื้นตัว และลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในอนาคต

การรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ด้วย MitraClip เป็นอย่างไร
ไมตรัลคลิป (MitraClip) เป็นเทคโนโลยีในการรักษาภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว โดยเป็นการใส่คลิปขนาดเล็กผ่านทางสายสวนที่สอดเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบ นำทางผ่านหัวใจห้องขวา และเข้าสู่หัวใจห้องซ้าย จากนั้น คลิปจะถูกนำไปหนีบบริเวณลิ้นหัวใจไมตรัลที่มีรอยรั่วเข้าด้วยกัน โดยกลไกการทำงานของไมตรัลคลิปช่วยให้ลิ้นหัวใจสามารถปิดสนิทได้ดีขึ้น โดยยังคงโครงสร้างเดิมของลิ้นหัวใจไว้ ทำให้การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การรักษาด้วยวิธีนี้ยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจและการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ไมตรัลคลิปมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่ต่ำกว่า ภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาน้อยกว่า และระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและการพักฟื้นที่สั้นกว่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
ผู้ที่เหมาะสมกับการรักษาด้วย MitraClip
- ผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วระดับปานกลางถึงรุนแรงที่มีอาการ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดเปิดหัวใจ
- ผู้ที่อาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยยา
ขั้นตอนการรักษาด้วย MitraClip
- การเตรียมตัว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) การตรวจเลือด และการเอกซเรย์ทรวงอก
- ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการระงับความรู้สึกทั่วไป จากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนที่มีอุปกรณ์ MitraClip ที่ปลายสาย ผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบไปยังหัวใจ โดยมีการนำทางด้วยภาพเอกซเรย์และคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแบบส่องผ่านหลอดอาหาร
- การใส่คลิป เมื่อสายสวนไปถึงลิ้นหัวใจไมตรัล แพทย์จะปล่อยอุปกรณ์ MitraClip และทำการหนีบลิ้นหัวใจเข้าด้วยกัน
- การประเมินผล:หลังจากการใส่คลิป แพทย์จะประเมินผลการรักษาด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อตรวจสอบว่าการรั่วของลิ้นหัวใจลดลงหรือไม่ และตำแหน่งของคลิปเหมาะสม
- การถอนสายสวน เมื่อการรักษาเป็นที่น่าพอใจ แพทย์จะถอนสายสวนออก และทำการปิดบริเวณที่สอดสายสวน
- การพักฟื้น ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน ก่อนที่จะสามารถกลับบ้านได้
หลังการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วย MitraClip
- ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายบริเวณขาหนีบเล็กน้อย ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด
- แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวหลังการรักษา เช่น การหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การดูแลแผลบริเวณที่สอดสายสวน และการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
- ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลการรักษาตามนัดหมาย
ข้อดีของการรักษาด้วย MitraClip
- ไม่ต้องผ่าตัดเปิดทรวงอก ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดใหญ่
- ระยะเวลาพักรักษาตัวของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 1-3 วัน และกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัด
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง หรือผู้ที่มีภาวะสุขภาพไม่แข็งแรง
- ช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักรู้สึกดีขึ้น อาการเหนื่อยหอบลดลงหลังการรักษา
- ปรับปรุงคุณภาพชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น
ข้อจำกัดของการรักษาด้วย MitraClip
- ไม่สามารถรักษาลิ้นหัวใจที่เสียหายรุนแรง ในบางกรณีที่ลิ้นหัวใจมีความเสียหายมาก การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
- อาจมีภาวะแทรกซ้อน แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัด แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น เลือดออกบริเวณที่สอดสายสวน การติดเชื้อ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน ดูแลครบวงจรทุกปัญหาหัวใจ
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลสุขภาพหัวใจของคุณอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยง ไปจนถึงการรักษาโรคหัวใจต่างๆ อย่างครอบคลุม อาทิ ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจชนิดอื่นๆ ให้การดูแลรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือด ที่มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือ MitraClip พร้อมด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน และห้องพักผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (CCU) ด้วยศักยภาพและความพร้อมดังกล่าว ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน จึงสามารถให้การรักษาที่หลากหลายวิธี พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละรายอย่างละเอียด เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ไมตรัลคลิป (MitraClip) เป็นทางเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดเปิดหัวใจ ช่วยลดการรั่วของลิ้นหัวใจ บรรเทาอาการ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาควรอยู่ภายใต้การพิจารณาและคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์ออนไลน์ได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ