การกายภาพหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ สำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วย

ศูนย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

บทความโดย : พญ. พรพรรณ พานเพียรศิลป์

การกายภาพหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ สำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกและข้อ ในช่วงแรกส่วนใหญ่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เต็มที่ การใช้งานกระดูกและข้อบริเวณนั้น ๆ ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง บางรายหากมีการใส่อุปกรณ์เทียมตามข้อในร่างกายก็ยิ่งยากต่อการเคลื่อนไหว ดังนั้นการกายภาพหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ลดการปวดแผล และกระตุ้นให้ผู้ป่วย ขยับ เคลื่อนไหว ออกกำลังกายได้เองเพื่อลดโอกาสเกิดข้อติด และพังผืด จนมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ การฟื้นตัวสมบูรณ์เต็มศักยภาพ


ทำไมผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกและข้อ ต้องทำกายภาพหลังผ่าตัด

เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดกระดูกและข้อ ไม่ว่าจะเป็น กระดูกแขน ขา ข้อเข่า ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง หรือข้อกระดูกส่วนใดก็ตาม หลังการผ่าตัด การใช้งานบริเวณนั้นๆ ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง เป้าหมายหลักของการทำกายภาพหลังผ่าตัดกระดูกและข้อก็เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด และช่วยให้ฟื้นสมรรถภาพทางร่างกายให้กลับมาทำงานได้เต็มที่เร็วที่สุด โดยที่ไม่ต้องใช้ยาจำนวนมากที่อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียง ลดจำนวนการพักฟื้นในโรงพยาบาล เพราะหากไม่ได้รับการกายภาพหลังผ่าตัด การฟื้นตัวโดยธรรมชาติอาจใช้เวลานาน และล่าช้า มีโอกาสภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น การฟื้นตัวนั้นอาจไม่สมบูรณ์ และมีโอกาสเกิดพังผืด ที่จะกลายเป็นแผลเป็น ข้อติด ขยับเคลื่อนไหวได้ไม่สุด และ กล้ามเนื้อทำงานได้น้อยลงจากการบาดเจ็บ หากนานไปจะทำให้ฟื้นฟูรักษาได้ยาก

> กลับสารบัญ


การทำกายภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกและข้อ

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดก็จะมีส่วนในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยโดยการช่วยออกแบบวิธีการออกกำลังกายให้กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามชนิดของการผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูความเเข็งแรงของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยปกติผู้ป่วยเริ่มทำการบริหารเพื่อฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดทันที

โดยจะต้องมีการประเมิน และจัดโปรแกรมการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถฝึกได้ตามแผนกายภาพ เพื่อป้องกันภาวะข้อติด ป้องกันกล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อข้างที่ผ่าตัด ฝึกการลุกนั่งบนเตียง เคลื่อนย้ายตัวจากเตียง การนั่ง ลุก ยืน เดิน และเดิน โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดินได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • ออกกำลังกายเพื่อป้องกันขาบวมและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ด้วยการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง และบิดข้อเท้าเข้า-ออก ให้สุดพิสัยของข้อ ท่าละ 10-20 ครั้ง/รอบ โดยในหนึ่งวัน สามารถทำได้หลายรอบ ควรทำอย่างน้อย 2 รอบ (กรณีไม่ได้มีการบาดเจ็บที่ข้อเท้า)
  • การใช้ผ้าขนหนูม้วนรองใต้เข่า หรือใช้หมอนใบเล็ก ออกแรงที่เข่ากดผ้าขนหนูลง ตรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง เป็น 1 รอบ ควรทำอย่างน้อย 3-5 รอบ/วัน
  • ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา โดยเกร็งขาค้างไว้ ท่าละ15-20 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ
  • การลุกนั่ง ยืน เดินควรทำในท่าทางลักษณะที่ถูกต้อง และฝึกเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการลงน้ำหนัก ให้เหมาะสมกับวิธีการผ่าตัดนั้นๆ โดยการฝึกและให้คำแนะนำในการกำกับดูแลของแพทย์เวชศาสตร์และนักกายภาพบำบัดซึ่งทำงานร่วมกันเป็นทีม

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพเพื่อการฟื้นฟูหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บแต่ละชนิด และวิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะได้รับการดูแลและวางแผนโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อร่วมกันประเมินเพื่อปรับการฝึกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ฉะนั้นการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ดีที่และเต็มศักยภาพของร่างกาย ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย