ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เสี่ยงระบบย่อยอาหารพัง !

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เสี่ยงระบบย่อยอาหารพัง !

หลายครั้งที่มีอาการจุก อึดอัด แน่นท้องขึ้นมาอยู่บ่อยๆ จนต้องเรอ หรือผายลมเพื่อระบายความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในท้องจนเสียบุคลิกภาพ บางคนอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย และคนส่วนใหญ่มักเลือกทานยาบรรเทาอาการเพียงเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้หากเป็นอยู่บ่อยครั้ง หรือเป็นๆ หายๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติจากร่างกาย ที่อาจตามมาด้วยโรคระบบทางเดินอาหารแล้วก็ได้


อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เป็นอย่างไร

  • ท้องอืด - เป็นอาการที่มีลมในกระเพาะอาหาร และลำไส้มาก เพราะอาหารไม่ย่อย ทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง ทำให้เรอ ผายลมบ่อย หรือภาวะท้องโต บางครั้งอาจได้ยินเสียงโครกครากภายในท้อง และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยอาการจะแสดงออกบริเวณกลางท้องส่วนบน ซึ่งอยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ
  • ท้องเฟ้อ - เป็นอาการที่มีลมในกระเพาะอาหาร เพราะอาหารไม่ย่อย หรือ อาหารเป็นพิษ เมื่อเรอมักจะมีกลิ่นเหม็น จึงใช้ว่า ท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว
  • ท้องเสีย - เป็นอาการถ่ายอุจจาระมีลักษณะเหลว หรือถ่ายออกเป็นน้ำมากกว่าปกติ หรือในบางครั้งถ่ายเป็นมูกปนเลือด

ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย สาเหตุที่พบได้บ่อย

ท้องอืด ท้องเฟ้อ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยมาก คือ 30-40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มคนในวัยดังกล่าวมีการทำงานของระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมถอยลงตามวัย สาเหตุหลักๆ มาจากในกระเพาะอาหารของเรามีแก๊สอยู่เยอะเกินไป นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • พฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานเร็ว ดื่มเร็ว รับประทานผิดเวลา บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซไว้ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ จึงทำให้เกิดก๊าซหรือลมในท้องมากกว่าปกติ รับประทานถั่ว นม อาหารที่มีไขมันสูง หรือชอบรับประทานอาหารรสจัด เป็นต้น
  • มีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป เกิดจากการอักเสบ มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเนื้องอก เนื้อร้ายซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหาร
  • ความผิดปกติของระบบการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนของกระเพาะอาหารเอง และในส่วนของลำไส้ น้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ตับ หรือ ตับอ่อน ทำงานได้น้อย จำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์มีปริมาณมาก หรือน้อยไป หรือเกิดจากสภาวะการบีบตัวที่ผิดปกติ
  • การกลืนอากาศเข้าไปมากเกินไประหว่างรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือพูดคุย

ท้องเสีย สาเหตุหลักมักเกิดจากการติดเชื้อหรือภาวะอาหารเป็นพิษ หลังจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อไวรัสเข้าไป ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ทั้งนี้ความเครียดวิตกกังวล การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือการแพ้อาหารบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน ในรายที่มีอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุโรคในระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้ผิดปกติ


วินิจฉัยอาการด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสีย เป็นระยะเวลานาน หรือมากกว่า 2-3 สัปดาห์ โดยที่ไม่บรรเทาลงเลยหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป ปวดท้อง เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน

โดยในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามถึงอาการป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น แต่หากอาการรุนแรงหรือสาเหตุของโรคไม่ชัดเจน แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (EGD) โดยการสอดกล้องเข้าไปทางปากแล้วตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร เป็นมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้ง เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นาน และในโรคบางโรคแพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ สามารถทำได้ตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการ ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากเกินไป รวมทั้งรักษาความสะอาดและเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ยังควรสำรวจความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และควรรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสียที่ผิดปกติ


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย