ปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากฟันเทียมจำเป็นหรือไม่

ศูนย์ : ศูนย์ทันตกรรม

บทความโดย : ทพ. วุฒิพงษ์ เหล่าอมต

ปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากฟันเทียมจำเป็นหรือไม่

การทำรากฟันเทียม หรือรากเทียม เป็นการทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไปได้ดีที่สุด กระบวนการรักษาคือการยึดฟันเข้ากับกระดูกขากรรไกรด้วยรากเทียม โดยสภาพกระดูกของแต่ละบุคคลมีลักษณะ ความแข็งแรง การสลายของกระดูกที่แตกต่างกัน รวมทั้งการสูญเสียฟันในระยะยาว ทำให้กระดูกฟันละลายซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำรากเทียม ดังนั้นทันตแพทย์อาจจะให้ทำการปลูกกระดูกฟันก่อนการฝังรากเทียม โดยการเสริมกระดูกฟัน เป็นอีกหนึ่งวิธีของการรักษาที่ทำให้มีฟันที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น


ปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากเทียมจำเป็นแค่ไหน

การปลูกกระดูกฟัน เป็นการเสริมกระดูกฟัน หรือเติมกระดูกบริเวณขากรรไกร จะใช้รักษาในกรณีที่ปริมาณของกระดูกขากรรไกรไม่สมบูรณ์หรือมีไม่เพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม เนื่องจากรากฟันเทียมต้องยึดแน่นกับกระดูกขากรรไกร เข้ากับเหงือกและฟัน หากกระดูกขากรรไกรบางหรือแข็งแรงไม่พอ จะทำให้ไม่สามารถยึดฟันเทียมเข้ากับขากรรไกรและเป็นสาเหตุหนึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำรากเทียมล้มเหลวมีการโยกหลุดออกได้

โดยการปลูกกระดูกฟันนั้นจะมีกระดูกอยู่ 3 ชนิดที่นำมาปลูกทดแทน ได้แก่ กระดูกของผู้เข้ารับการรักษาเองถือว่าเป็นกระดูกที่นำมาใช้แล้วดีที่สุด กระดูกจากสิ่งมีชีวิตอื่น (กระดูกสัตว์) และกระดูกสังเคราะห์ ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น เซรามิก แคลเซียม ฟอสเฟต เป็นต้น

> กลับสารบัญ


วิธีการปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากเทียม

วิธีการปลูกกระดูกฟันมีหลายประเภท โดยมีระยะเวลา ขนาดและปริมาณของการปลูกถ่ายกระดูกเช่นเดียวกับพื้นที่หรือตำแหน่งที่ต้องการปลูกถ่ายกระดูกนั้นๆ แต่ที่นิยมทำในปัจจุบัน ได้แก่

  1. การปลูกถ่ายกระดูกเบ้าฟัน มักทำในกรณีกระดูกฟันแคบ หรือความกว้างของสันกระดูกเบ้าฟันไม่เพียงพอที่จะรองรับการฝังรากเทียม รวมทั้งป้องกันไม่ให้กระดูกขากรรไกรบนและล่างเสื่อม วิธีนี้อาจทำได้ในการฝังรากเทียมภายหลังการถอนฟัน เพื่อลดความเจ็บปวด
  2. การปลูกถ่ายกระดูกสันขากรรไกร เป็นการเพิ่มพื้นที่ความยาวของกระดูกขากรรไกรเพื่อรองรับการฝังรากเทียม
  3. การปลูกถ่ายกระดูกแบบชิ้น เพื่อเพิ่มขนาดความหนาหรือปริมาณกระดูกโดยใช้กระดูกของผู้เข้ารับการรักษาเองในการปลูกถ่าย ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนก่อนการทำการฝังรากเทียม
  4. การปลูกถ่ายกระดูกในไซนัสและการผ่าตัดยกเลื่อนตำแหน่งของโพรงอากาศไซนัส เป็นการปลูกกระดูกบริเวณฟันหลังบนเพื่อให้กระดูกสูงขึ้นให้เชื่อมโยงกันกับโพรงไซนัส หรือโพรงอากาศข้างจมูก เหมาะกับกรณีที่ไซนัสย้อยลงมาจนทำให้กระดูกในฟันหลังบนสูงไม่พอที่จะฝังรากฟันเทียม ป้องกันไม่ให้รากเทียมหลุดเข้าไปในไซนัส ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือนก่อนการทำการฝังรากเทียม

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนการปลูกกระดูกฟันก่อนฝังรากเทียม

ก่อนการปลูกกระดูกฟันทันตแพทย์จะตรวจเช็กช่องปาก ตรวจฟันเพื่อวางแผนการรักษา โดยกระดูกที่จะนำมาปลูกถ่ายนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษา ในการเลือกประเภทของวัสดุที่จะนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายวิภาคของผู้เข้ารับการรักษาแต่ละท่าน โดย

  1. กรณีใช้กระดูกของผู้เข้ารับการรักษา ทันตแพทย์จะตัดกระดูกของผู้เข้ารับการรักษา จากส่วนอื่นมาปลูกถ่ายบริเวณกระดูกขากรรไกรที่มีปัญหา
  2. กรณีใช้กระดูกวัสดุสังเคราะห์ ทันตแพทย์จะนำวัสดุมาปลูกถ่ายทันที
  3. หลังจากปลูกกระดูกฟันเสร็จ จะต้องรอให้กระดูกที่ปลูกใหม่สมานกับกระดูกเดิมจนสามารถฝังรากฟันเทียมได้ภายใน 3-6 เดือน หรือขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกกระดูกฟัน
  4. เมื่อกระดูกฟันแข็งแรงแล้ว ทันตแพทย์จะฝังอุปกรณ์รากเทียมลงบริเวณกระดูกขากรรไกรและรอการสมานเชื่อมระหว่างวัสดุรากเทียมที่ทำจากโลหะไททาเนียมกับกระดูกของผู้ป่วย จากนั้นจึงใส่ตัวยึดรากฟันเทียมกับครอบฟันและตัวฟันปลอม

> กลับสารบัญ


การปฏิบัติตัวหลังปลูกกระดูกฟัน

  1. ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากปลูกกระดูกฟันเสร็จ ควรระมัดระวังการกระทบกระเทือนภายในช่องปาก และรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ไม่ดูดหลอดจนแผลที่ได้จากการผ่าตัดจะหายดี
  2. ควรทำความสะอาดช่องปากด้วยการบ้วนปากเบาๆ
  3. ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดสูบบุหรี่ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้แผลหายช้า ทำให้เลือดไหลไม่หยุด และบุหรี่จะทำให้การรักษาในการปลูกถ่ายกระดูกได้ผลช้าลงและไม่สำเร็จ
  4. ห้ามออกกำลังกายหนักและทำกิจกรรมใน 1-3 วันแรก เพื่อให้การรักษาและแผลของหายเร็ว
  5. แพทย์อาจจ่ายยาระงับปวดเพื่อลดอาการปวดแผล ควบคู่กับยาปฏิชีวนะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และจะนัดติดตามผลการรักษาหลังจากผ่าตัด 1 สัปดาห์
  6. หากมีอาการปวด เลือดออก มีอาการบวมเพิ่มมากขึ้น หรือมีไข้ มีการหายใจอุดกัน หรือมีปัญหาด้านการกลืน ให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
  7. ในการปลูกกระดูกฟันอาจใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน หรือมากกว่าเพื่อให้กระดูกที่ปลูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับกระดูกของเรา เมื่อประสานกันดีและแข็งแรงแล้ว ถึงจะสามารปลูกฝังรากเทียมได้

> กลับสารบัญ


หากใครประสบปัญหากระดูกน้อยหรือไม่เพียงพอที่จะฝังรากฟันเทียม การปลูกกระดูกฟันเป็นอีกหนึ่งวิธีของการรักษาที่สามารถช่วยให้คุณสามารถฝังรากฟันเทียมได้ รวมทั้งควรปรึกษาทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการประเมิน พร้อมตรวจสุขภาพช่องปากอย่างละเอียด และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้การรักษาฟันของเราประสบความสำเร็จมากที่สุด




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย