ภาวะหลังคลอด ที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

ภาวะหลังคลอด ที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ

ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจ ไม่ได้เกิดในขณะตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับภาวะหลังคลอดด้วย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายของแม่ลดต่ำลงหลังคลอดบุตรในช่วงระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์นี้ คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้ร่างกายและสภาพจิตใจค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ


ภาวะหลังคลอดทางด้านร่างกาย

หลังจากคลอดบุตรประมาณ 6 สัปดาห์แรก จะเป็นช่วงภาวะหลังคลอดที่ร่างกายของคุณแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงและกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยความเปลี่ยนแปลงที่มักเกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่

  • น้ำคาวปลา คือ เนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด ซึ่งเกิดจากการหลุดลอกตัวของรก น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูกโดย 3-4 วันแรกหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาเยอะมากและเป็นสีแดงสดคุณแม่ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ระยะเวลาในการมีน้ำคาวปลาจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปจะมีประมาณ 3 สัปดาห์
  • เต้านมคัดตึงบวม อาการนี้เป็นเรื่องปกติของภาวะหลังคลอด อาจทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บเต้านม เต้านมแข็ง ตึง ปวด ลานนมตึงแข็ง และครั่นเนื้อ ครั่นตัว เหมือนไม่สบาย เนื่องจากเต้านมจุน้ำนมจนเต็มแล้วไม่ถูกระบายออก จนเกิดแรงดันสูงภายในเต้านมไปขัดขวางการไหลของน้ำนมนั่นเอง หากประสบปัญหานี้แนะนำให้ประคบอุ่นประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนม พร้อมทั้งให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำนมระบายออกได้มากที่สุด
  • ผมร่วงหลังคลอด เพราะขณะตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการงอกใหม่ของเส้นผมเพิ่มมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงดูมีผมดกหนา แต่ในทางกลับกันเมื่อคลอดบุตรแล้วระดับฮอร์โมนจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดอาการผมร่วงมากกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด โดยทั่วไปอาการผมร่วงนี้จะหายไปเองภายใน 6-12 เดือน เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ระดับปกติ ก็จะมีผมขึ้นใหม่ดีเหมือนเดิม ในช่วงที่ผมร่วงคุณแม่อาจตัดผมสั้น เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ไม่ต้องหวีผมบ่อย พร้อมกับรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เช่น ไข่แดง (3 ฟอง/สัปดาห์) ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักโขม รวมถึงอาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างเส้นผมได้
  • ท้องผูก อาจเกิดจากภาวะริดสีดวงทวาร หรืออาการเจ็บแผลจากการคลอดบุตรจนทำให้คุณแม่ไม่อยากถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจส่งผลให้ท้องผูกตามมาได้ดังนั้น คุณแม่จึงควรเน้นกินอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างผัก ผลไม้ หรือธัญพืช และดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้นหากทำตามแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์
  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากการคลอดอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ยืดออก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เวลาคลอดบุตรนานกว่าปกติ จะเกิดภาวะนี้สูงเมื่อมีการไอ จาม หรือหัวเราะ จะทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดออกมาได้ แต่ภาวะนี้จะค่อยๆ หาย และกลับมาเป็นปกติได้ประมาณ 3 สัปดาห์หรือนานกว่านี้ ในระหว่างนี้ แนะนำให้คุณแม่หลังคลอดใส่ผ้าอนามัย และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ รักษาอาการปัสสาวะเล็ด โดยการใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดหรือมินิรีแพร์
  • ผิวแตกลาย คุณแม่หลังคลอดร้อยละ 90 จะมีผิวหน้าท้องแตกลายโดยจะมีลักษณะเป็นริ้ว มักมีสีชมพูหรือสีแดงตามสภาพผิวหนังของแต่ละคน เกิดจากการขยายขนาดของผิวหนังอย่างรวดเร็วขณะตั้งครรภ์ พอหลังจากคลอดบุตรออกมาแล้ว ริ้วลอยดังกล่าวก็ยังคงอยู่ แต่จะค่อยๆ จางลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือจะใช้ครีมทาผิวหรือทาแก้ท้องลายนวดบริเวณหน้าท้องที่แตกลาย ก็จะช่วยลดเลือนริ้วลอยได้

ภาวะหลังคลอดทางด้านอารมณ์

นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกินทางด้านร่างกายแล้ว ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจด้วย ดังนี้

  • ภาวะเศร้าหลังคลอด (Postpartum blue)เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ยังปรับตัวหลังคลอดไม่ค่อยได้ ซึ่งภาวะนี้จะมีอาการหงุดหงิด เศร้า เสียใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีความกังวลเรื่องลูกระยะเวลาของอาการนี้อาจอยู่ประมาณ 5 วันหลังคลอด และจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละรายในช่วงที่คุณแม่หลังคลอดมีอาการ อาศัยเพียงแค่กำลังใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากคนรอบข้าง ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องทำการรักษา
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)เกิดจากความผิดปกติของอารมณ์หลังคลอดระดับปานกลางจนถึงรุนแรงโดยมีอาการเช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย บางครั้งหงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายไป บางครั้งเกิดอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูกเป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีประวัติเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวง่าย มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดหรือเคยมีประวัติความผิดปกติทางอารมณ์มาก่อนมีแนวโน้มที่จะเป็นกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ระยะอาการมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงหลายเดือน หรือเป็นปี ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยการเข้ารับการบำบัดโดยนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อทำความเข้าใจกับอาการต่างๆ ที่คุณแม่กำลังเผชิญอยู่รวมทั้งแรงสนับสนุนและการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

ทั้งหมดนี้คือภาวะหลังคลอดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ หากคุณแม่หลังคลอดคนใดมีอาการผิดปกติ หรือเป็นนานเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย