รู้เท่าทัน “ไวรัสตับอักเสบบี” ภัยร้ายก่อโรคตับแข็ง มะเร็งตับ

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : พญ. เพ็ญประไพ หงษ์ศรีสุวรรณ์

รู้เท่าทัน “ไวรัสตับอักเสบบี” ภัยร้ายก่อโรคตับแข็ง มะเร็งตับ

โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นภัยร้ายที่มาแบบเงียบๆ โดยแฝงตัวอยู่ในสังคม และเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ หากชะล่าใจต้องมานั่งเสียใจทีหลังได้ เพราะถ้าติดเชื้อแล้วอาจรักษาหายยาก และด้วยความที่ไม่ปรากฏอาการ หรืออยู่ในช่วงโรคสงบหรือการอักเสบไม่มากมักไม่ก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจน จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มารู้จักตับอักเสบเรื้อรังจาก "โรคไวรัสตับอักเสบบี"

โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 - 3 ล้านราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนหนึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังของตับ มีโอกาสดำเนินโรคเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมักไม่แสดงอาการ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันการติดเชื้อและดูการอักเสบของตับ ผู้ป่วยจำนวนมากจะทราบว่าติดเชื้อโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีหรือการบริจาคเลือด


สาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  • การติดจากแม่สู่ลูก เกิดจากการติดเชื้อขณะคลอด โดยการสัมผัสเลือดของแม่ขณะคลอด
  • ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโดยไม่สวมถุงยาง
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน หรือของใช้อื่นๆ ที่มีเลือดติดอยู่
  • ผ่านการถ่ายเลือดที่ไม่ได้ตรวจหาโรคตับอักเสบบี
  • ผ่านวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่อาจเกี่ยวข้องกับเลือด เช่น การฝังเข็ม
  • การใช้อุปกรณ์การสักที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง

ทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อหรือเป็นพาหะหรือไม่

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ทั้งที่มีและไม่มีตับอักเสบส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบีในเบื้องต้นสามารถทำเองได้โดยการสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าตัวเองมีโอกาส มีความเสี่ยง หรือพบว่ามีอาการของไวรัสตับอักเสบบี ให้ไปพบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ตับและการตรวจพังผืดในตับ (Fibroscan)


ใครควรไปตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  1. กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบี มะเร็งตับ ตับอักเสบหรือมีภาวะตัว ตาเหลือง เช่น มีพ่อ แม่ พี่น้องทางแม่ หรือพี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรค
  2. คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว
  3. กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป
  4. กลุ่มที่มีการสัก เจาะ ที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
  5. กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด
  6. กลุ่มคนที่อยู่ในคุก
  7. หญิงตั้งครรภ์
  8. 8. คู่รักก่อนแต่งงาน

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นภัยร้ายต่อตับอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีนั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ แบบเฉียบพลัน (เป็นแล้วหายภายใน 6 เดือน) และแบบเรื้อรัง (เป็นนานกว่า 6 เดือน)

ไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลัน เมื่อมีการรับเชื้อไปแล้วราว 2 - 3 เดือน จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้และอาเจียน เหนื่อยง่าย บางรายมีจุกๆ บริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าตรวจดูจะมีค่า การทำงานของตับสูงกว่าปกติ อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่กลับมาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอีก

ไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังมักได้รับเชื้อ มาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารกหรือวัยเด็ก โดยได้รับจากมารดาในช่วงหลังคลอด รวมทั้งได้รับเชื้อจากคนแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เมื่อเด็กที่ได้รับเชื้อโตขึ้น จำนวนเชื้อไวรัสจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันของร่างกายพัฒนาขึ้น ร่างกายมีการต่อสู้กับเชื้อไวรัสมากขึ้น บางรายโชคดีภูมิต้านทานจัดการไวรัสสำเร็จ ก็หายได้ ขณะที่บางรายเกิด ภาวะตับอักเสบ เป็นๆ หายๆ จนกลายเป็นโรคเรื้อรังขึ้นมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 20 - 40 ปี อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับต่อไป


การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เอง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมากๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่

หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคตับที่รุนแรง และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย ใช้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นต้น


ไวรัสตับอักเสบบีป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยควรฉีดตั้งแต่ในวัยเด็กแรกเกิด ในเด็กโตและในผู้ใหญ่ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่เพราะส่วนใหญ่อาจจะมีภูมิต้านทานการติดเชื้ออยู่แล้ว ซึ่งสามารถทราบได้จากการตรวจเลือดว่าควรหรือไม่ควรรับวัคซีน โดยการฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม (0,1,6 เดือน) สามารถสร้างภูมิต้านทานในการป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต

นอกจากนั้นเรายังสามารถป้องกันและระมัดระวังด้วยตัวเองได้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่กังวลหรือเครียดจนเกินไป สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องการเจาะหูหรือสักลาย ควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือถูกหลักอนามัย


หากติดเชื้อแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำคือ พักผ่อนให้มาก ดูแล สุขภาพให้ดี ไม่นานก็หายเป็นปกติ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นแบบเรื้อรัง แพทย์ก็จะตรวจละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ทราบถึงการดำเนินของโรค และรายละเอียด ของการรับเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาอย่าง เหมาะสมต่อไป พร้อมกับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. รับประทานอาหารเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาดและครบทุกหมู่
  2. หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น รวมถึงยาสมุนไพร ยาลูกกลอนต่างๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้ รวมไปถึงเลี่ยงยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ไวรัสตับอักเสบบีเพิ่มปริมาณมากขึ้น และกดภูมิต้านทาน
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  4. ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนและตรวจอัลตราซาวนด์ทุก 6-12 เดือน

แน่นอนว่าเมื่อตรวจพบไวรัสตับอักเสบบีแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก็จะช่วยลดปริมาณของไวรัสได้ ลดการอักเสบของตับ ลดพังผืดและการเกิดแผลในตับ ทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตับวายและมะเร็งตับได้ ซึ่งปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เรามียาที่ช่วยควบคุมอาการไปได้ตลอดอยู่แล้ว และหากตรวจร่างกายไปเรื่อยๆ อาจพบค่าตับที่ปกติได้ อย่างไรก็ตามห้ามเพิกเฉยต่อโรคนี้เด็ดขาด


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย