ลำไส้ใหญ่ ตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้หลายวิธี

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ

ลำไส้ใหญ่ ตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้หลายวิธี

ลำไส้ใหญ่ เป็นอวัยวะภายในร่างกายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ หากมีความผิดปกติ มีก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งจึงสามารถค่อยๆ โตอยู่ได้ภายในลำไส้ใหญ่โดยที่อาจไม่มีโอกาสรู้เลยในระยะแรกๆ จะรู้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีอาการที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ความน่ากลัวของมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โอกาสที่จะแพร่ไปสู่ระบบต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะข้างเคียงอื่นๆ ฉะนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะช่วยป้องกันการเกิดโรค และการตรวจหาความผิดปกติที่ลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้


มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่อันตราย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โรคที่เซลล์ปกติในลำไส้ใหญ่เกิดการกลายพันธุ์ มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเยื่อบุอย่างมากจนไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็จะเกิดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกขึ้นในลำไส้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ในระยะแรกๆ เซลล์อาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาหรือไม่ตัดทิ้ง เนื้องอกอาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งได้ และหากกลายเป็นมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของลำไส้ผ่านท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือด และไปปรากฏยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย


ใครบ้างควรตรวจลำไส้ใหญ่

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งยังไม่ทราบชัดเจน แต่สำหรับบางคนบางกลุ่ม อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนอื่น ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ
  • ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติสายตรง ให้ทำการตรวจก่อนคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างน้อย 10 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้
  • ผู้ที่มีปัญหาระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเข้าข่ายมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น มีท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องผูกเฉียบพลันในผู้สูงอายุ ปวดท้องเรื้อรัง ลำไส้อุดตัน เลือดออกทางทวารหนัก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

วิธีตรวจคัดกรองลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ สามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้หลายวิธี ดังนี้

  1. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ เป็นการตรวจจากตัวอย่างอุจจาระที่ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าหากมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระก็แปลว่าภายในระบบทางเดินอาหารอาจมีเลือดออก แพทย์ก็จะส่งตัวให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป แต่ผู้รับการตรวจต้องงดเนื้อสัตว์และเลือด รวมทั้งวิตามินบำรุงเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  2. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) โดยใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและส่วนปลายได้ อีกทั้งแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง โดยทั่วไปควรตรวจทุก 10 ปี
  3. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible sigmoidoscopy) โดยการใส่กล้องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจความผิดปกติของลำไส้ตรง (Rectum) และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ถ้าเห็นรอยโรค วิธีการนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจสอบต่อได้ ควรตรวจทุก 10 ปี
  4. การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomographic (CT) Colonography) โดยการใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ขยายเห็นรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่ทำได้ จะได้ภาพสามมิติเสมือนจริงของลักษณะภายในลำไส้ใหญ่เพื่อใช้ดูความผิดปกติ ประเมินระยะของโรคและเลือกระยะการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ข้อดีของการตรวจด้วยวีธีนี้ คือ ดูรอยโรคนอกลำไส้ด้วย ควรตรวจทุก 5 ปี
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้นๆ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด จึงควรตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องทำการตรวจโดยไม่ต้องรออายุ 45 ปี





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย