หลายคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว
แต่กลับยังมีอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อหลงเหลืออยู่

อย่างอาการเหนื่อยเพลีย หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง แขนขาอ่อนแรง การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง อาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังตกอยู่ในภาวะ “ลองโควิด” (LONG COVID)


ภาวะลองโควิด คืออะไร?

“ภาวะลองโควิด” เป็นภาวะที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 หลังจากรักษาตัวแล้วหายดีไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ แต่มีอาการที่เกิดต่อเนื่องหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะลองโควิดยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เพราะการติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเกิดการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อโรคแล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรือต้องอาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบก็อาจจะยังไม่ฟื้นฟู หรือเกิดจากผลข้างเคียงในด้านของการรักษาที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานโดยเฉพาะห้อง ICU ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น โดยอัตราการเกิดลองโควิด จะอยู่ที่ประมาณ 40-80% (จากรายงานทั่วโลก) ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล



กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลองโควิด

ภาวะลองโควิด (LONG COVID) สามารถเกิดได้กับผู้ที่ติดเชื้อทุกคน ทั้งที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ความเสี่ยงของกลุ่มที่จะเกิดภาวะลองโควิดได้มากขึ้น ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขณะติดเชื้อ ผู้ที่มีปอดอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ และส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 1.4-1.5 เท่า
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคปอด เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน


อาการลองโควิดที่พบบ่อยหลังติดเชื้อโควิด-19

อาการลองโควิด เป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่มีลักษณะตายตัว อาจเหมือนหรือต่างกันในแต่ละบุคคล ผลกระทบของลองโควิดสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด โดยสามารถแบ่งอาการที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

  1. อาการที่เกิดจากปอด เช่น อาการเหนื่อยล้า หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง มีฝ้าขาวเกิดขึ้นที่ปอด
  2. อาการที่เกิดจากหัวใจ เช่น อาการใจสั่น อาการหัวใจเต้นเร็ว อาการเจ็บหน้าอก
  3. อาการที่เกิดจากสมอง เช่น ปวดหัว เวียนศีรษะ สมองล้า
  4. อาการที่เกิดจากไต เนื่องจากความสมดุลของเกลือแร่ (โซเดียม) ที่ผิดปกติไปทำให้ไตมีภาวะบกพร่องมากขึ้น เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
  5. อาการด้านความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและการทำงานของตับ
  6. อาการอ่อนแรง ที่เกิดจากตัวกล้ามเนื้อและระบบประสาท ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ
  7. อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือ มีปัญหาผมร่วง
  8. ด้านจิตใจและอารมณ์ เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือมีผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)


เมื่อหายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วต้องทำอย่างไรต่อ?

หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เป็นต้น แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาและอาการที่เกิดขึ้น

รวมไปถึงการเข้ามารับการตรวจเช็คสุขภาพหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 เพื่อเช็คผลเลือด เอกซเรย์ปอด ค่าตับ ค่าไต ค่าสารอักเสบต่างๆ รวมถึงระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย เพื่อวางแผนในการดูแลและฟื้นฟูตัวเองให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม


ตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด

ที่สำคัญผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างครบถ้วน ควรวางแผนในการรับวัคซีนให้ครบหลังจากติดเชื้อแล้ว 1-3 เดือน แม้หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำมีน้อยมาก แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาตินี้ ก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโควิด-19 แม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท



นพ.นิพนธ์ จิริยะสิน
อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
ศูนย์อายุกรรม




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย