แนะวิธีเช็คอาการกระดูกคอเสื่อม หมั่นสังเกต รู้ก่อนป้องกันได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

แนะวิธีเช็คอาการกระดูกคอเสื่อม หมั่นสังเกต รู้ก่อนป้องกันได้

โรคกระดูกคอเสื่อม หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในท่าที่ไม่ถูกต้องติดต่อกันนานๆ เป็นประจำ ที่เร่งให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งอาการปวดคอ บ่าไหล่ ปวดกล้ามเนื้อคอหรือเอ็นรอบคอมักหายเองได้ แต่หากใครเป็นบ่อย เป็นนาน ควรตรวจให้แน่ชัดว่าเกิดจากกระดูกคอเสื่อมหรือไม่ เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งเกิดอันตรายได้


สำรวจตัวเองง่ายๆ เป็นกระดูกคอเสื่อมหรือไม่

  1. ให้นั่งตัวตรง หลังตรง แล้วเงยคอ และเอียงคอไปด้านตรงข้าม หากมีอาการปวด และปวดร้าวลงมาที่ไหล่ แขน หรือมือ อาจมีปัญหากระดูกคอเสื่อม
  2. ค่อยๆ ก้มหน้าลงให้คางจรดหน้าอก และเงยหน้าขึ้นมองเพดาน ถ้ารู้สึกชา หรือเหมือนไฟช็อตลงแขนหรือขาได้
  3. การจาม หากกระดูกคอเสื่อม เวลาจามจะมีแรงกระแทกไปที่ช่องคอ แล้วไปรบกวนตัวหมอนรองกระดูกที่มีปัญหาทำให้กดทับเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการเจ็บ ร้าว ชา ปวด หรือเจ็บแปล๊บเหมือนไฟฟ้าช็อตได้

> กลับสารบัญ


หากคุณมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์

หากมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า 2 ขึ้นไป ให้รีบพบแพทย์ เพราะคุณอาจเป็นภาวะกระดูกคอเสื่อม ได้แก่

  • ปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง
  • ปวดคอ คอแข็ง เคลื่อนไหวตัวได้ยาก ไม่สามารถเอียงคอ ก้ม หรือเงย และจะปวดมากขึ้นเวลานั่งหรือยืน
  • ปวดจนรบกวนการนอน การดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ปวดคอร้าวลงแขน ข้อศอก มือ
  • มีอาการเหน็บชา ที่แขน หรือ นิ้วมืออยู่บ่อยๆ
  • เดินหรือทรงตัวลำบาก
  • มีอาการอ่อนแรงของแขน มือ หยิบจับอะไรไม่อยู่ ติดกระดุมไม่ได้ กำมือต้องออกแรงมากกว่าเมื่อก่อน หรือ ไม่มีแรงกระดกข้อมือขึ้น

> กลับสารบัญ


กระดูกคอเสื่อมระดับไหนอันตราย

  • ระดับ 1 กระดูกคอเสื่อมที่จะมีอาการปวดต้นคอ บ่าและไหล่
  • ระดับ 2 มีการกดทับเส้นประสาท จะมีอาการปวดร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทถูกกด อาการนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขนท่อนล่าง จนถึงปลายนิ้ว
  • ระดับ 3 มีการกดทับไขสันหลัง จะมีอาการปวดเกร็งบริเวณลำตัว แขนและขา ปวดหลังคอร้าวไปด้านหลังของไหล่ และอาจปวดร้าวไปถึงด้านหลังของแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วกลาง ก้าวขาได้สั้นลง การทรงและการใช้งานมือลำบาก

> กลับสารบัญ


การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม

หากพบว่าตนเองเข้าข่ายเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม และตรวจพบได้เร็ว มีอาการไม่มาก แพทย์สามารถให้การรักษาทางยาและการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการปวด ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น มีภาวะอ่อนแรงที่รุนแรง มีการกดเส้นประสาทรุนแรงและนาน แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหน้า (ACDF) ใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ที่เรียกว่า Microscope โดยแผลผ่าตัดจะอยู่ที่คอด้านหน้ามีลักษณะของแผลเป็นเส้นตรง ขนาดราว 3 ซม. ซี่งมีความปลอดภัยและให้ความแม่นยำสูง ส่งผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย หลังผ่าตัดจะมีเพียงแผลขนาดเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ผู้ป่วยจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

> กลับสารบัญ


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอาการปวดคออย่านิ่งนอนใจ ให้หมั่นสังเกตอาการ หรือใช้วิธีข้างต้นในการสำรวจตัวเอง หากพบว่ามีอาการเข่าข่ายกระดูกคอเสื่อม อย่านิ่งนอนใจ เพราะถ้าปล่อยไว้นาน นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว อาจเกิดภาวะเสื่อมจนกดทับไขประสาทอย่างรุนแรงจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ฉะนั้นควรเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้สามารถส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ได้ข้างล่างนี้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย