การทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test)

ศูนย์ : ศูนย์ภูมิแพ้

บทความโดย :

การทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test)

การทดสอบการแพ้อาหาร โดยรับประทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test) คือ การให้ผู้ป่วยลองรับประทานอาหารที่สงสัย แล้วสังเกตอาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด วิธีการทดสอบนี้เป็นการยืนยันการวินิจฉัยการแพ้อาหารที่แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยจะเลือกทดสอบอาหารที่สงสัยจากประวัติผู้ป่วย หรือผลตรวจ skin prick test หรือผลตรวจ specific IgE ที่ยังสงสัยการแพ้อาหาร หรือทำทดสอบอาหารเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายจากการแพ้อาหารนั้นแล้ว


การแพ้อาหาร เป็นอย่างไร

การแพ้อาหาร (Food Allergy) เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เมื่อได้รับประทานอาหารที่แพ้ ผ่านกลไกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการในระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียงระบบเดียวหรือหลายระบบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การแพ้อาหารเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

โดยอาหารที่มักเป็นสาเหตุการแพ้อาหาร ได้แก่

  • ไข่
  • ปลา
  • นม
  • ถั่วเหลือง
  • ถั่วลิสง
  • แป้งสาลีและกลูเต็น
  • สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย หมึก ฯลฯ
  • ถั่วตระกูล Tree Nuts เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ ฯลฯ
  • ผักและผลไม้ อาจเกิดอาการแพ้ที่ริมฝีปากและในลำคอ

> กลับสารบัญ


ใครควรทดสอบโดยวิธีการรับประทานอาหารที่สงสัย

  1. ผู้ที่เคยมีประวัติว่าแพ้อาหารมาก่อน และงดอาหารมาสักระยะ และต้องการดูว่าอาการหายแล้ว ซึ่งก่อนทำควรเจาะเลือดหรือทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังก่อนว่าแพ้ลดลงแล้ว
  2. ผู้ที่สงสัยว่าแพ้อาหาร แต่อาการและผลทดสอบอื่น ๆ ให้ผลไม่ชัดเจน
  3. ผู้ที่ผลทดสอบจากเลือดและผิวหนังขึ้นหลายอย่าง แล้วไม่มั่นใจว่าแพ้ตัวไหน

> กลับสารบัญ


การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ

  1. ผู้ป่วยต้องสบายดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนมาทำการทดสอบ
  2. งดรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้อย่างน้อย 7-14 วัน ก่อนมาทำการทดสอบ
  3. งดรับประทานยาแก้แพ้แอนตี้ฮีสตามีนอย่างน้อย 5-7 วัน ก่อนมาทำการทดสอบ

> กลับสารบัญ


ขั้นตอนทดสอบ

ผู้ป่วยจะได้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ โดยเริ่มทานในปริมาณอย่างน้อย 5-10% ของปริมาณที่ควรได้รับตามปกติ ขึ้นอยู่กับประวัติความรุนแรงของอาการแพ้ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารนั้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 15-60 นาที ต่อมาเฝ้าดูอาการที่เกิดขึ้นตลอดการประทานอาหาร จนถึงปริมาณปกติที่เด็กคนนั้นจะสามารถรับประทานอาหารนั้นได้ และให้ทานอาหารนั้นต่อไปทุกวันในช่วงระยะหนึ่ง โดยต้องสังเกตอาการต่อไป 2-7 วัน ถ้าอาการแพ้นั้นเป็นปฏิกริยาที่เกิดเร็วมักจะมีอาการภายในไม่เกิน 24-48 ชม. หลังทานอาหาร หากอาการแพ้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดช้า มักจะมีอาการภายใน 7 วันหลังทานอาหาร จึงแนะนำให้สังเกตอาการไปนานอย่างน้อย 7 วัน หากไม่มีอาการผิดปกติใดก็สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยไม่แพ้หรือหายจากการแพ้อาหารชนิดนั้นแล้ว

ทั้งนี้การทดสอบจะเริ่มทำหลังจากได้รับความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ป่วย หรือผู้ปกครองซึ่งได้รับทราบถึงขั้นตอนวิธีการทดสอบ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนเริ่มทำการทดสอบ

> กลับสารบัญ


หมายเหตุ: ผู้ป่วยที่มาทำการทดสอบการแพ้อาหารโดยรับประทานอาหารที่สงสัย อาจมีโอกาสเกิดปฏิกริยาการแพ้อาหารนั้น โดยอาจมีอาการรุนแรงจากการแพ้ฉับพลันได้ ซึ่งสามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิดได้ โดยการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมียาและอุปกรณ์ช่วยชีวิตเตรียมพร้อมตลอดเวลาที่ทำการทดสอบ


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย