รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว

ศูนย์ : ศูนย์ภูมิแพ้, ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย : พญ. วราลี ผดุงพรรค

รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า "แพ้นม" กันมากขึ้น ซึ่งก็คือ การแพ้โปรตีนในนมวัวนั่นเอง ซึ่งมักเกิดในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน และระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้โปรตีนในนมทำปฏิกิริยากับร่างกาย โดยอาการแพ้แสดงได้หลากหลาย และมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป โดยหากแสดงอาการทันที มักเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมภายใน 15 นาที - 2 ชั่วโมง เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ลมพิษ ปากบวม ลิ้นบวม หายใจลำบาก ปวดท้อง หรืออาเจียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาการแพ้โปรตีนนมวัวส่วนใหญ่เป็นภาวะเพียงชั่วคราว อาการจะหายได้ หากเด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม


ทำไมถึงแพ้นมวัว?

การได้รับนมผสมหรืออาหารอื่นๆ ที่ต่างจากนมแม่ที่เป็นโปรตีนแปลกปลอม อาจเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหาร เนื่องจากโปรตีนแปลกปลอมเหล่านี้ไม่ถูกย่อยหรือทำลาย โดยเฉพาะเด็กวัย 4-6 เดือนแรกที่เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบน้ำย่อยต่างๆ ยังไม่แข็งแรง โปรตีนดังกล่าวจึงเข้าสู่ร่างกายได้มาก ประกอบกับความเสี่ยงทางพันธุกรรม ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เป็นเหตุให้เด็กเล็กๆ เกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้ง่าย นอกจากนี้ค่านิยมในการบริโภคนมวัวปริมาณมาก หรือการงดนมวัวไปเลย ในช่วงตั้งท้องและช่วงให้นมบุตร อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทำให้ลูกแพ้นมวัว


รู้ได้อย่างไรว่าแพ้?

การแพ้โปรตีนนมวัว เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ช่วงแรกที่ดื่มยังไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา พอดื่มไปได้สักระยะ 1-2 สัปดาห์จึงแสดงอาการ หากแสดงอาการหลังดื่มทันที เช่น หน้าบวม ปากบวมแดง ลมพิษ อาเจียนมาก มีผื่นขึ้นตามใบหน้าหรือตามตัว บางรายถ่ายเป็นเลือดปนมูก ท้องเสียเรื้อรัง หรือหวัดเรื้อรัง หายใจครืดคราดนานๆ ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตอาการอย่าร่วมกับประวัติสัมพันธ์กับอาการ และหากไม่แน่ใจกับอาการที่เกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการหาสาเหตุ ที่แท้จริง


แบบไหนเข้าข่าย...แพ้!

อาการแพ้ของเด็กแต่ละคนอาจแสดงออกมาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าในร่างกายของลูก ระบบไหนที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะเด็กคนไหนที่แพ้ง่าย มักมีประวัติ พ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว (ไม่จำเป็นที่พ่อแม่ต้องเป็นคนที่แพ้อาหาร อาจจะเป็นโรคภูมิแพ้อย่างอื่น เช่น ภูมิแพ้จมูกอักเสบ ผื่น แพ้ผิวหนังและหอบหืด)

อาการแพ้ ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กเล็ก คือ ผื่นภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้มทั้ง 2 ข้าง อาจมีผื่นขึ้นที่ด้านนอกแขน ข้อศอก ข้อมือ ข้อพับแขนขา หัวเข่า ข้อเท้า หรือตามลำตัว ซึ่งเกิดขึ้นจากการอักเสบของผิวหนัง ถ้าเป็นมากก็มีตุ่มน้ำ และหรือน้ำเหลืองเยิ้มออกมา ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยผื่นแพ้จะไม่ขึ้นที่หน้าแล้ว มักจะขึ้นตามบริเวณที่มีรอยย่น เช่น รอบคอ ข้อพับ แขน ข้อศอก หลังเข่า หรือขึ้นที่มือและเท้า โดยผื่นจะสมดุลทั้งซ้าย-ขวา และมีอาการคันมาก ผิวหนังมักแห้งและสากไปทั่วๆ ตัว มีการอักเสบแดงเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ

การแพ้โปรตีนนมวัว ไม่ได้แสดงอาการทางผิวหนังอย่างเดียว บางรายมีอาการอาเจียนมากหลังทานนม หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ คล้ายอาการภูมิแพ้อากาศหรือเป็นหวัดเรื้อรัง เด็กจะไอมาก หายใจเร็ว จนหน้าอกยุบ/ซี่โครงบาน เวลาหายใจก็มีเสียงวี้ดๆ เหมือนอาการแสดงของโรคหอบหืดได้ ในรายที่แพ้แบบเฉียบพลันหลังทานนมวัวภายใน 1-4 ชั่วโมง จะมีอาการ ผื่นรอบปาก ผื่นลมพิษ หน้าบวม อาเจียนมาก น้ำมูกไหล ไอ หอบ ทันที หรือแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้


สิ่งสำคัญในการดูแลเด็กเล็ก

ทานนมแม่ให้นานที่สุดอย่างน้อย 4-6 เดือน เพื่อเป็นการป้องกัน และลดอาการแพ้โปรตีนนมวัว โดยมารดาที่มีลูกแพ้นมวัว ควรงดบริโภคนมวัวและอาหารที่ผลิตจากนมวัว เพราะพบว่านมวัวผ่านมาทางน้ำนมแม่ได้ ตัวเด็กงดทานนทวัว และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากนมวัว หากสงสัยว่าลูกเข้าข่ายแพ้นมวัว ควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและคำแนะนำ เกี่ยวกับการเปลี่ยนนมเป็นนมที่เหมาะสม และแนวทางการให้อาหารเสริมในเด็กต่อไป


ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีนมวัวหรือส่วนประกอบของนมวัวเป็นส่วนผสม

กลุ่มผลิตภัณฑ์นม

  • นมวัว ไขมันจากนมวัว นมข้นจืด และนมข้นหวาน
  • ชีสทุกชนิด
  • อาหารประเภทครีม เช่น วิปครีม (Whipped Cream)
  • เครื่องดื่มผสมนมหรือไอศกรีม เช่น Malted milk
  • เนย ไขมันเนย (Butter fat butter solids) น้ำมันเนย (Ghee)
  • โยเกิร์ต
  • นมที่ผ่านการหมักด้วยเม็ดบัวหิมะ (Ker)
  • คาราเมล
  • พุดดิ้ง
  • คัสตาร์ด หรือสังขยา
  • ช็อคโกแลต
  • ขนมหวานกรอบแข็ง (Nougut)
  • อาหารที่ส่วนประกอบของโปรตีนเวย์ (Whey) หรือเคซีน (Casein) เช่น Calciuam Caseinate,Iron Caseinate,Zinc Caseinate
  • น้ำตาลแล็กโทส และ Lactulose

กลุ่มอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนของนมวัวในกระบวนการผลิต (โปรดอ่านฉลากโภชณาการเสมอ)

  • เนื้อโคและไส้กรอก
  • มาร์การีน (Margarine)
  • ขนมปัง และขนมอบ (พัฟฟ์-พาย)
  • ซุปและผงซุปพร้อมดื่ม
  • ซีเรียลผง
  • ลูกอมหรือขนมเจลลี่ชนิดเคี้ยวหนึบ
  • การแต่งกลิ่นธรรมชาติ และกลิ่นสังเคราะห์ (Natural and articial favorings)
  • ข้าวมันต่างๆ
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง (High protein product)

แม้ว่าปัจจุบันโรคแพ้นมวัว แพ้อาหาร จะพบบ่อยมากขึ้นสำหรับเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคแพ้นมวัว แพ้อาหาร ควรพามาพบแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยง ที่อาจแพ้รุนแรงถึงชีวิต เลือกนมที่ปลอดภัย เพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย หรือการใช้ยาร่วมเพื่อรักษาอาการ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดี และหายจากการแพ้นมวัวในเวลาที่เหมาะสม


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย