การสวนหลอดเลือดหัวใจ... ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

การสวนหลอดเลือดหัวใจ... ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

การสวนหัวใจ คือ การทำหัตถการ เป็นได้ทั้งการ “ตรวจ” และ “รักษา” โรคหัวใจ โดยการใส่สายสวน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสายยางที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1–2 มิลลิเมตร เข้าทางหลอดเลือดแดง เพื่อวัดความดันโลหิตในห้องหัวใจหรือหลอดเลือดรอบๆ หัวใจที่ปลายสายสวนนั้นไปถึงได้ ในบางครั้งอาจเรียกสั้นๆ ว่า “การฉีดสี”

ทั้งนี้ การสวนหัวใจเพื่อฉีดสีตรวจหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ จะทำผ่านหลอดเลือดแดงที่บริเวณขาหนีบ ข้อมือหรือข้อพับที่แขน โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งคนไข้จะรู้ตัวตลอดเวลา ไม่หลับ ถ้าเป็นการสวนหัวใจเพื่อการตรวจทั่วๆ ไป จะใช้เวลาประมาณ 20-60 นาที หลังตรวจเสร็จ แพทย์จะนำสายสวนออกจากตำแหน่งที่ทำหัตถการ แล้วกดตรงบริเวณที่ใส่สายเข้าไป เพื่อให้เลือดหยุดโดยใช้ยาหรือใช้อุปกรณ์ช่วยให้เลือดหยุดได้เร็วขึ้น แล้วแต่กรณีและความเห็นของแพทย์ผู้ทำหัตถการ

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อมายังห้องปฏิบัติการสวนหัวใจทันทีเพื่อให้ได้รับการเปิดเส้นเลือดโดยเร็วที่สุด (ภายใน 90 นาที)


ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  1. ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  2. ต้องการวัดความดันหัวใจต่างๆ
  3. ตรวจวินิจฉัยสมรรถภาพหัวใจโดยการออกกำลังกาย
  4. ตรวจเพื่อเตรียมการผ่าตัดหัวใจ
  5. อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงที่ไม่ตอบสนองการรักษาด้วยยา

ขั้นตอนการรักษา

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถรักษาได้ 2 วิธีหลักๆ ได้แก่ การสวนหลอดเลือดหัวใจและการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ส่วนแต่ละวิธีจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมไปเลย



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาและแขน

การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) จะใช้วิธีการสวนหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทำได้ 2 จุดคือ

  1. การสวนหลอดเลือดหัวใจบริเวณขาหนีบ (Femoral artery) วิธีนี้จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ใช้ยาสลบ ไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-60 นาที หลังจากที่ทำเสร็จดึงสายสวนออก จะกดบริเวณขาหนีบประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยต้องนอนราบ และงอขาหนีบไม่ได้เป็นเวลา 6-10 ชั่วโมง และไม่สามารถลุกนั่งหรือเดินได้ในทันที
  2. สำหรับการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านบริเวณข้อมือ (Radial artery) วิธีนี้จะสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือได้ โดยใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-8 ชั่วโมง หลังจากทำหัตถการสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ทันที มีเพียงสายรัดข้อมือ (TR band) ใส่ไว้ แต่ไม่นานก็สามารถถอดออกได้

การปฏิบัติตัวหลังจากสวนหลอดเลือดหัวใจ

  1. หลังจากทำหัตถการเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วย เพื่อสังเกตอาการหลังการรักษา
  2. ผู้ป่วยไม่ควรลุกจากเตียงและไม่งอขาด้านที่แทงเส้นเลือด เป็นเวลาอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง (หากทำหัตถการที่บริเวณขาหนีบ)
  3. หากพบว่าบริเวณที่แทงเส้นเลือดบวมหรือขาข้างที่แทงเส้นเลือด ซีดหรือเย็นกว่าปกติควรแจ้งพยาบาลทราบ
  4. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารได้ตามความเหมาะสม
  5. ถ้าปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

การทำบอลลูนหัวใจเป็นทางเลือกของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ง่ายและสะดวก เพราะไม่ต้องผ่าตัด และการทำบอลลูนหัวใจมีความเสี่ยงน้อยเพียง 1% แต่ยังคงมีความเสี่ยงของการทำบอลลูนหัวใจอยู่บ้าง โดยภาวะเสี่ยงของการทำบอลลูนหัวใจอาจมีดังต่อไปนี้

  1. ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือปวดบริเวณที่ใช้สายสวน
  2. เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  3. แพ้สารทึบแสง อาจเกิดภาวะช็อกได้
  4. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  5. บางรายอาจเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจทะลุระหว่างทำการสอดใส่ท่อบอลลูนเข้าไปในเส้นเลือด
  6. เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง (อุบัติการณ์น้อยกว่า 0.2%)
  7. เสียชีวิต (อุบัติการณ์น้อยกว่า 0.5%)

อย่างไรก็ตาม การทำบอลลูนหัวใจภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับการปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้


ประโยชน์ของการรักษา

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน จะช่วยดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ให้ไปชิดผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกน้อยลง หายใจได้เต็มที่ขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้


การปฏิบัติตัวหลังจากขยายหลอดเลือดหัวใจ

  1. ต้องนอนราบอย่างน้อยประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง หลังทำการตรวจสวนหัวใจ ตำแหน่งที่ทำเป็นบริเวณข้อหนีบ
  2. ระหว่างนี้ควรจะดื่มน้ำ ประมาณ 1 ลิตร หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำดื่ม เพื่อขับสารทึบรังสี
  3. ดูแลแผลตำแหน่งที่ทำหัตถการอย่าโดนน้ำประมาณ 3 วัน หรือหากโดนให้ใช้เบตาดีนเช็ดบริเวณแผล
  4. สังเกตตำแหน่งบริเวณที่ทำหัตถการ หากมีเลือดไหล ปวด บวม แดงร้อน หรือเย็น ซีด เป็นก้อน ให้แจ้งพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้ทันที
  5. ถ้าปวดแผลบริเวณที่ทำหัตถการ สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  6. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอกให้มาพบแพทย์ทันที
  7. งดออกกำลังกายหนักหรือใช้แรงมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก
  8. ห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ประมาณ 1 เดือน หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ
  9. หากไอหรือเบ่ง ให้กดบริเวณแผลไว้ หลังทำหัตถการตรวจสวนหัวใจ ประมาณ 7 สัปดาห์ (ในกรณีทำบริเวณขาหนีบ)


นพ.ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล
แพทย์อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย