ปวดท้อง ไม่เท่ากับโรคกระเพาะเสมอไป อาจมีนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีซ่อนอยู่

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ

ปวดท้อง ไม่เท่ากับโรคกระเพาะเสมอไป อาจมีนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีซ่อนอยู่

เวลาพูดถึงอาการปวดท้องเรื้อรังเป็นๆ หายๆ คนทั่วไปมักจะคิดถึงโรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน หรือโรคลำไส้แปรปรวน เป็นอันดับต้นๆ แต่ถ้ารักษาโรคต่างๆ เหล่านี้เบื้องต้นแล้ว ยังไม่หาย อาจต้องนึกถึงโรคอื่นๆ ด้วย เช่น นิ่วในระบบทางเดินน้ำดี ซึ่งบางครั้งคนมักจะลืมนึกถึง และเป็นตัวการทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ เรามาทำความรู้จักนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีมากขึ้นกันดีกว่า เผื่ออาการปวดท้องของคุณ อาจจะมีนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีซ่อนอยู่


ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีคือ อายุเยอะ เพศหญิง มีโรคเบาหวาน มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักลดในระยะเวลาอันสั้น และยาบางชนิดก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดีได้


อาการของนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี

ส่วนใหญ่นิ่วในถุงน้ำดีมักไม่ค่อยมีอาการอะไร แต่หลังจากติดตามไป 10-15 ปี 15-25% จะเปลี่ยนเป็นมีอาการได้ จุดเริ่มต้นของตัวโรค จะเริ่มจากมีนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วนี้หล่นไปอุดส่วนต่างๆ เช่น อุดท่อทางเดินน้ำดี อุดท่อทางเดินตับอ่อน หรืออุดลำไส้ โดยอาการของนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี มีได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  1. นิ่วอุดตันในถุงน้ำดี มีอาการแสดงคือปวดท้องด้านขวาบน อาจปวดร้าวไปไหล่ขวาได้ ขนาดความรุนแรงของอาการปวดค่อนข้างมาก ลักษณะปวดแบบตื้อๆ บางครั้งมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  2. นิ่วอุดตันจนมีภาวะถุงน้ำดีอักเสบ มักจะมีอาการคล้ายในข้อ 1 ร่วมกับมีไข้และกดเจ็บบริเวณหน้าท้องด้านขวาบน
  3. นิ่วหลุดเข้าไปอุดท่อทางเดินน้ำดี ทำให้ท่อทางเดินน้ำดีอักเสบติดเชื้อ มีอาการแสดงคือ ปวดท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง มีไข้ และตรวจพบเอนไซม์ตับผิดปกติร่วมด้วย
  4. ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบน้อย แต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น นิ่วหลุดไปอุดท่อทางเดินตับอ่อน ทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือนิ่วหลุดเข้าไปอุดตันลำไส้ ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจเบื้องต้นมักจะเริ่มจากตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ ร่วมกับ อัลตราซาวด์เพื่อดูนิ่วในถุงน้ำดีหรือภาวะถุงน้ำดีอักเสบ โดยอาจมีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เพิ่มเติม ในบางกรณี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT scan) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระบบทางเดินน้ำดี (MRI + MRCP) หรือการส่องกล้องด้วยระบบอัลตราซาวด์ (Endoscopic ultrasound) โดยแพทย์จะเลือกตรวจตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไข้เป็นรายๆ ไป


การรักษา

ถ้าเป็นนิ่วอุดตันในถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีอักเสบ แนะนำผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เผื่อลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในอนาคต ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปัจจุบันมีทั้งผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องและผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งโดยทั่วไปการผ่าตัดแบบส่องกล้องมักใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยกว่า

ถ้าเป็นนิ่วหลุดมาอุดตันในท่อน้ำดี ทางการแพทย์แนะนำส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดี (ERCP) เผื่อเอานิ่วออก และมักจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ถ้าคนไข้มีภาวะติดเชื้อในท่อน้ำดีร่วม

ภาวะนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี แม้นิ่วที่อุดมีขนาดเล็กเช่น 0.5 เซนติเมตร แต่นิ่วขนาดเล็กก็สามารถทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ และถ้าปล่อยไว้นาน โดยไม่รักษาทันท่วงที อาจมีผลแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ความดันโลหิตตก ถ้ารีบมาโรงพยาบาลพบแพทย์ วินิจฉัยและรักษาได้เร็ว ก็สามารถรักษาให้หายขาด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะตามมาได้

ถ้าท่านมีอาการปวดท้องรักษาไม่หาย และมีอาการเหมือนที่กล่าวไปข้างต้น อย่าลืมนึกถึงนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี อาจมีซ่อนอยู่และเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดท้องได้ อาการปวดท้องอาจไม่ใช่เป็นโรคกระเพาะเสมอไป แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย