ภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ ภัยร้ายที่อาจซ่อนเร้นอยู่

ศูนย์ : คลินิกผู้สูงอายุ, ศูนย์อายุรกรรม

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

ภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ ภัยร้ายที่อาจซ่อนเร้นอยู่

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเสื่อมถอยของระบบต่างๆ ในร่างกาย ร่วมกับเป็นช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นเหตุให้เกิดปัญหาหลายประการ ซึ่งปัญหาภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ มีทั้งปัญหาภาวะขาดสารอาหาร และภาวะอ้วน ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น ร่างกายผอมแบบแคระแกร็น เกิดปัญหาสายตา โรคเบาหวานและโรคหัวใจ และยังส่งผลให้เกิดความพิการได้ ดังนั้น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องคำนึงถึงภาวะทุพโภชนาการ ที่อาจซ่อนเร้นอยู่และอาจเป็นพื้นฐานของปัญหาสุขภาพที่ผู้สูงอายุกำลังประสบอยู่ได้


ภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) เป็น สภาวะของร่างกายที่เกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน หรือมีปริมาณ ที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย หรืออาจเกิดจากที่ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนพอเหมาะ แต่ร่างกายไม่สามารถใช้สารอาหารนั้นได้ จึงทำให้เกิดภาวะผิดปกติขึ้น โภชนาการที่ไม่ดีแบ่งออกเป็น ภาวะโภชนาการต่ำ และภาวะโภชนาการเกิน ผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีส่วนใหญ่จะมีร่างกายที่ผอมหรือ อ้วนเกินไป

  • ภาวะโภชนาการต่ำ หรือ ภาวะขาดสารอาหาร เป็นผลมาจากการได้รับพลังงานจากโปรตีน หรือสารอาหารรองไม่เพียงพอ ทำให้ความแข็งแรงน้อยลง เกิดภาวะแคระแกร็น และน้ำหนักไม่เหมาะสมกับอายุ ผอมเกินไป
  • ภาวะโภชนาการเกิน หรือ ภาวะอ้วน คือ สภาวะของร่างกาย ที่เกิดจากการได้รับอาหารหรือสารอาหารบางอย่างเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ เกิดการสะสมพลังงาน หรือสารอาหารบางอย่างไว้จนเกิดโทษแก่ร่างกาย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น

สาเหตุการเกิดภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ

ในผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น มีความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การรับรส และการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน เป็นต้น ทางจิตใจ เศรษฐกิจและสังคม เช่น ฐานะยากจน สูญเสียรายได้หรืออาชีพ การถูกทอดทิ้ง ทำให้ไม่สามารถจัดหาอาหารมาบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการได้ และการมีโรคประจำตัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการได้ง่าย ซึ่งผลกระทบของภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ เช่น เกิดภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ มีความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่วงซึม ไข้สูง มีอาการอาเจียนที่ไม่สามารถควบคุมได้ และถ้าเกิดบาดแผลจะหายช้ากว่าปกติ มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัวง่าย การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น





สังเกตอย่างไร ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ

สัญญาณและอาการจะแสดงตามประเภทสารอาหารที่ขาด โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการต่ำ ได้แก่ น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีความอยากอาหารลดลง ผมร่วง ซีด ใจสั่น เวียนศีรษะ อ่อนแรง รู้สึกเพลียตลอดเวลา และอาจเป็นลมหมดสติ เจ็บป่วยง่ายและหายช้ากว่าปกติ มีปัญหาในการย่อยอาหารและการหายใจ ชาที่ข้อต่อ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย ทำกิจกรรมต่างๆ ช้า หงุดหงิด หรือวิตกกังวลผิดปกติ มีอาการซึมเศร้าหรือรู้สึกหดหู่ใจ เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการเกิน ได้แก่ เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก หายใจติดขัด หายใจไม่คล่อง นอนกรนจากปัญหาเรื่องการหายใจ เหนื่อยง่าย ร้อนง่าย เหงื่อออกง่ายและออกมาก เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เป็นต้น

การดูแลรักษาผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพโภชนาการ

1. ผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการต่ำ โดยได้รับสารอาหารได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ดูแลรักษาได้ ดังนี้

  • เพิ่มปริมาณอาหารปรุงอาหารด้วยการทอด ผัด มากขึ้น โดยเลือกให้เหมาะสม ไม่ขัดต่อโรคที่เป็น
  • เพิ่มมื้ออาหารโดยเพิ่มอาหารว่างหรือเลือกการให้รับประทานอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง
  • ดูแลให้ได้รับสารอาหารโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลา ไข่ขาว และนม
  • เพิ่มคุณค่าของอาหารในแต่ละมื้อที่รับประทาน เช่น เพิ่มสัดส่วนของไขมันดี โดยการเติมน้ำมันมะกอกลงในเครื่องปรุงรส ผักสด ธัญพืช และรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง
  • จัดเลือกอาหารที่ผู้สูงอายุชอบและเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเลือกเอง โดยเลือกอาหารที่ไม่ขัดต่อโรคที่เป็น
  • เลือกภาชนะที่ใส่และจัดอาหารที่มีสีสัน ดูให้น่ารับประทานเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร
  • หมั่นดูแลความสะอาดในช่องปาก ฟัน ก่อนการรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร และรับประทานอาหารได้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะจะทำให้ไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหารต่อ
  • รับประทานอาหารเสริมเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ เช่น วิตามิน และเกลือแร่ เป็นต้น

2. ผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการเกิน ได้รับสารมากเกินความต้องการของร่างกาย ดูแลรักษาได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารได้ครบ 3 มื้อ หากเคยรับประทานของว่าง ควรลดของว่างเหล่านั้น และงดอาหารจุบจิบให้น้อยลงกว่าเดิม
  • งดอาหาร จำพวกแป้ง ของหวาน อาหารที่ปรุงด้วยวิธี ทอด ผัด และ ใช้วิธีการปรุงแบบ ต้ม นึ่ง ย่าง แทน
  • รับประทานผลไม้ ผัก ให้มากที่สุดแทนเนื้อสัตว์ นม เนย
  • จัดอาหารประเภทเนื้อไก่ ปลาที่มีไขมัน และแคลอรี่น้อยกว่าเนื้อแดง
  • เลือกชนิดอาหาร ที่หลากหลาย เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าขาดอาหารส่วนใดๆ ไป
  • ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้การขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการลดน้ำหนัก
  • ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมตามสภาพแต่ละราย
ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ ถือเป็นภัยเงียบทางสุขภาพ ที่อาจส่งผลให้โรคเรื้อรังและภาวการณ์เจ็บป่วยของผู้สูงอายุรุนแรงขึ้นได้ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพใดๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อหาแนวทางโภชนาการที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลอย่างถูกต้อง




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย