เสียใจหนัก อกหัก เครียดจัด ระวังโรคหัวใจสลาย

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

เสียใจหนัก อกหัก เครียดจัด ระวังโรคหัวใจสลาย

รู้หรือไม่ว่าอาการเสียใจสุดขีด อกหัก ความเครียดรุนแรง เป็นอาการทางจิตใจที่ส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิด “โรคหัวใจสลาย หรือ ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome)” ซึ่งเป็นภาวะการบีบตัวของหัวใจลดลงชั่วคราวอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกและหายใจลำบากอย่างกะทันหันคล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด แม้อาการจะเป็นชั่วคราว และคนส่วนใหญ่อาการมักดีขึ้นเอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


โรคหัวใจสลาย เป็นอย่างไร

โรคหัวใจสลาย หรือ ภาวะหัวใจสลาย (Broken heart syndrome) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Takotsubo Cardiomyopathy เป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) เกิดเต้นอ่อนแรงเฉียบพลันทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลงชั่วคราว ซึ่งหัวใจห้องนี้เป็นหลักในการส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่างๆ ทั้งร่างกาย ทำให้หัวใจขาดเลือดฉับพลัน ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ คลายอาการหัวใจขาดเลือด อย่างเฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม

> กลับสารบัญ


สาเหตุของภาวะหัวใจสลาย

สาเหตุที่ของภาวะหัวใจสลายยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดได้ เช่น จากภาวะอารมณ์สะเทือนใจสุดขีด ทั้งเรื่องร้าย หรือเรื่องดีที่ไม่คาดฝัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้าย เช่น ความเครียดรุนแรง การสูญเสียแบบเฉียบพลัน อกหัก เศร้าเสียใจสุดขีด เป็นต้น ซึ่งโรคนี้โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 58-77 ปี และผู้มีความเครียดสูง ผู้มีอาการปวดที่รุนแรง ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำมากทันที เป็นต้น

> กลับสารบัญ


อกหักเกี่ยวอะไรกับภาวะหัวใจสลาย

การอกหัก ทำให้เกิดอาการเสียใจ เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อาจเจอหรือพบได้ตามปกติประจำวัน ทำให้เกิดความเครียดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง ซึ้งคล้ายๆ ลักษณะของการสูญเสียอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจสลายขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน

> กลับสารบัญ


อาการของภาวะหัวใจสลาย

อาการของโรคหัวใจสลาย ที่มักพบ ได้แก่

  • การเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงอย่างเฉียบพลัน คล้ายอาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะมีอาการนานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง
  • อาการเหนื่อย มีภาวะน้ำท่วมปอด
  • หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
  • อาการอื่นๆ เช่น ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก ในบางรายอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอันตรายถึงชีวิตได้

> กลับสารบัญ


การวินิจฉัยและรักษา

แพทย์จะวินิจฉัยแยกโรคด้วยการตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมไปถึงการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

โดยปกติโรคนี้เกิดจากความเครียด และสามารถหายได้เองภายใน 1 – 4 สัปดาห์ แต่ในช่วงที่มีการบีบตัวของหัวใจที่ผิดปกติจะต้องทำการรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น เช่น ควบคุมการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ ด้วยการใช้ยา รวมถึงแก้ไขปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

> กลับสารบัญ


เนื่องด้วยความเครียดเป็น 1 ในปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจสลาย การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้นั้น คือ การบริหารจิตใจ พยายามลดภาวะความเครียด ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง พร้อมทั้งเสริมสร้างความรักในครอบครัว พบปะเพื่อน งดการเก็บตัว ก็จะช่วยลดภาวะนี้ได้ สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างนี้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย