แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม

ศูนย์ : ศูนย์ศัลยกรรม, ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความโดย : นพ. ธราดล เล็กสุพรรณโรจน์

แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม

เมื่อได้ทราบผลการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ย่อมมีความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย โดยการรักษามะเร็งเต้านมนั้นมีแนวทางการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับระยะ ชนิดของมะเร็ง และการแบ่งระยะของโรค ซึ่งจะรู้ได้นั้นต้องอาศัยข้อมูลจากการวินิจฉัยจากแพทย์ ได้แก่ ขนาดก้อน โดยวัดจากก้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชนิดของมะเร็งเต้านม มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปต่อมน้ำเหลือง หรือการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบเบื้องต้นแล้ว จะทราบว่าเป็นมะเร็งระยะที่เท่าไหร่ มีตั้งแต่มะเร็งระยะ 1-4 โดยการรักษาจะเป็นไปตามระยะของโรค


ระยะของมะเร็งเต้านม

  • ระยะที่ 1: เซลล์เริ่มผิดปกติ หากมีก้อนมะเร็งจะอยู่ในเต้านมและมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งอาจเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิมโดยที่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งที่เต้านมขยายออกไปเป็นบริเวณกว้าง โดยอาจมีการลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของช่องอก เกิดแผลที่ผิวหนังหรือมีการลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองมากกว่าระยะที่ 2 โดย ในระยะนี้ก้อนเนื้ออาจมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง กระดูก หรือปอด เป็นต้น ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดได้หลายขนาด

ทางเลือกการรักษามะเร็งเต้านม

การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษา ได้แก่

  1. การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาหลัก ประกอบด้วย การผ่าตัดเต้านม และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ดังนี้
    • การผ่าตัดที่เต้านม แบ่งเป็น
      1. การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conservative Surgery) โดยตัดก้อนมะเร็งและเนื้อนมออกเพียงบางส่วนร่วมกับการฉายแสงหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเต้านมแบบใหม่
      2. การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) ซึ่งอาจจะมีการเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย (Breast Reconstruction) โดยการใส่ซิลิโคน (Prosthesis) หรือใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง (Autologous flap)
    • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
      1. การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด (Axillary lymph node dissection) ปัจจุบันจะทำการผ่าตัดแบบนี้ในกรณีที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองเท่านั้น เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้สูง เช่น แขนบวม หรือชาบริเวณรักแร้และต้นแขน
      2. การนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้มาตรวจ (Sentinel lymph node biopsy) เป็นการผ่าตัดโดยนำกลุ่มต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายมาถึงก่อน (Sentinel lymph node) ออกมาตรวจ โดยจะทำการฉีดสีพิเศษที่บริเวณเต้านมเพื่อจำลองการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม จากนั้นจะผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ออกมาเพื่อส่งตรวจทางวิธีพยาธิวิทยาด้วยวิธีแช่แข็ง (Frozen section) โดยสามารถทราบผลในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในขณะผ่าตัด
    ซึ่งหากไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองเพิ่มเติม แต่หากมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ จะต้องทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมดในผู้ป่วยที่ยังไม่มีเซลล์มะเร็งพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลืองได้
  2. การฉายแสงหรือรังสีรักษา (Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีเข้าไปบริเวณเต้านมและหน้าอกเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับเป็นซ้ำ มักจะเป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมหรือใช้เป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองด้วย
  3. การใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการให้ยาทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดการแพร่กระจาย
  4. การใช้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) เป็นการให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ต้องผ่านการส่งตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อน หากตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมนจึงจะสามารถใช้ยาประเภทนี้รักษาได้ และต้องทานยาต่อเนื่อง 5-10 ปี
  5. การใช้ยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยยาจะมีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องผ่านการตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อนเช่นกัน
  6. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการให้ยาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย การให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันนี้ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะใช้ในมะเร็งเต้านมบางชนิดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มทำการรักษามะเร็งเต้านม จะต้องประเมินระยะของโรคจากการตรวจร่างกาย และจากผลเอกซเรย์ว่าผู้ป่วย น่าจะเป็นมะเร็งเต้านมระยะใด ทำการส่งตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดไหน แล้วแพทย์จะพิจารณาเลือกการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆต่อไป





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย