โรคลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ ภาวะที่อาจเลี่ยงไม่ได้แต่รักษาได้

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : นพ. ศิรพัชร์ พูนวุฒิกุล

โรคลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ ภาวะที่อาจเลี่ยงไม่ได้แต่รักษาได้

อีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ มักพบในผู้สูงอายุ หรือในบางรายลิ้นหัวใจอาจถูกเร่งให้เสื่อมจากโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด ไตวาย รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ก็จะเกิดลิ้นหัวใจเสื่อมได้เร็วขึ้นรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ ทั้งนี้โรคลิ้นหัวใจเสื่อม แม้จะไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แต่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่จะทำให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง


โรคลิ้นหัวใจเสื่อม เป็นอย่างไร

โรคลิ้นหัวใจเสื่อม จะเป็นการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจตามอายุ มักพบในวัยผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพ ซึ่งเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจมีความเสื่อมสภาพทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูป และมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ จนทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติและนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่วได้ และเมื่อลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่ได้เลือดก็ไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ เป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ จนเกิดภาวะต่างๆ ทั้ง หัวใจโต เลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด ตามมาได้ บางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว

สาเหตุของลิ้นหัวใจเสื่อม เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ลิ้นหัวใจมีการใช้มานานมาก จนทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ รวมทั้งลิ้นหัวใจอาจถูกเร่งให้เสื่อมจากโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น


อาการของลิ้นหัวใจเสื่อม

เมื่อลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่สนิท จะเกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ โดยอาการแสดงที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ เจ็บหน้าอก อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติคล้ายกับอาการใจสั่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกมากขึ้น ลุกขึ้นเดินเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อยหอบหรือเป็นลม กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ซึ่งอาจทำให้เลือดค้างอยู่ในปอดมากขึ้น กลายเป็นโรคความดันโลหิตในปอดสูงตามมา


การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจเสื่อม

การตรวจวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมสามารถทำได้โดยตรวจการทำงานของหัวใจได้ ผ่านด้วยการฟังเสียงหัวใจ และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการตรวจด้วยอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยอุปกรณ์จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปและจำลองภาพของหัวใจ วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจเสื่อมได้ ว่าตีบหรือรั่วแบบไหน พร้อมทั้งประเมินความรุนแรงของตัวโรค และมีข้อบ่งชี้ในการรักษาต่อไปอย่างไร


ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม รักษาโรคลิ้นหัวใจเสื่อม

ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก มีลิ้นหัวใจรั่วมาก จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่พยุงการปิด-เปิด ลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนา แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) แก้ไขส่วนที่เสียหายของลิ้นหัวใจ แต่ถ้าอาการรุนแรง และเข้ารับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแล้วก็ยังไม่เป็นผล หรือผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมหรือเสียมาก จนไม่สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้อีก ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement) ใหม่ ด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทน

การรักษาลิ้นหัวใจเสื่อมทำได้โดยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Valve Replacement) เพื่อทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิม โดยการผ่าตัดจะเป็นแบบวิธีมาตรฐาน คือ การเปิดแผลผ่าตัดกึ่งกลางหน้าอก ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบธรรมชาติที่ได้จากเนื้อเยื่อของหัวใจวัว หรือเนื้อเยื่อหัวใจหมู และลิ้นหัวใจเทียมจากสารสังเคราะห์ โลหะ โดยอายุของลิ้นหัวใจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 ปี ควบคู่กับการรับประทานยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว ซึ่งอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ไม่สามารถตั้งครรภ์หรือมีลูกได้ เป็นต้น

หากผู้สูงอายุ หรือคนในครอบครัว มีอาการเหนื่อยเร็วกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว หรือมักเป็นลมบ่อย และมีอาการเจ็บหน้าอก ควรไปตรวจหาสาเหตุกับพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย