หัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม อาจอันตรายถึงชีวิต

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น เจ็บหน้าอก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ หรือมองข้ามไป เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครียด อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร?


หัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร หัวใจเต้นผิดจังหวะคืออะไร

หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ Cardiac Arrhythmia คือ ภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งโดยทั่วไปอัตราการเต้นของหัวใจ จะอยู่ที่ประมาณ 60 - 100 ครั้งต่อนาที โดยหัวใจห้องข้างบนและข้างล่างจะเต้นในจังหวะที่สัมพันธ์กันสม่ำเสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือ เต้นไม่สม่ำเสมอกัน อาจเต้นน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือเต้นเร็วผิดปกติ เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที บางกรณีหัวใจหยุดเต้นไปบางช่วง นั่นหมายถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ

> กลับสารบัญ


โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการเป็นอย่างไร?

หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการ อาจแตกต่างกันไปตามชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ บางคนอาจไม่มีอาการเลย ขณะที่บางคนอาจมีอาการชัดเจนมากจนต้องได้รับการรักษาโดยด่วน โดยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมีดังนี้

  • ใจสั่น รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว หรือเต้นพลาดจังหวะ
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที)
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที)
  • เจ็บหน้าอก หายใจหอบ
  • จุดแน่นขึ้นคอ ลิ้นปี่
  • วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก
  • หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หมดสติ
  • มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง

> กลับสารบัญ


สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอะไรบ้าง?

หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากอะไร เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ โดยมีสาเหตุหลากหลาย ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด
  • โรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ภาวะนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนและแรงดันในทรวงอก ซึ่งอาจนำไปสู่การเต้นผิดจังหวะ
  • ยาบางประเภท เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำหนัก และยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวช อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ
  • ความเครียดหรือความวิตกกังวลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราวได้

> กลับสารบัญ


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด ?


หัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด หัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด

หัวใจเต้นผิดปกติมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิด สาเหตุการเกิด อาการ วิธีการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติเป็นสองแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. หัวใจเต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที อาทิ
    • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ
    • Heart Block การส่งสัญญาณไฟฟ้าจากบนลงล่างของหัวใจ ติดขัดหรือถูกขัดขวาง ทำให้หัวใจจะเต้นช้าผิดปกติ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  2. หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที อาทิ
    • หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หัวใจจะเต้นไม่เป็นจังหวะและเร็วผิดปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ผู้ที่มีโรคหัวใจ เป็นต้น
    • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที มักอยู่ในช่วง 150-250 ครั้งต่อนาที
    • ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด PVC (Premature ventricular contraction - PVC ) เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดการบีบตัวก่อนเวลาที่ควรจะเป็น
    • หัวใจจะเต้นเร็วผิดปกติและไม่เป็นจังหวะ (Ventricular Fibrillation) เป็นสาเหตุทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การจะรู้ว่าเรามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หรือตรวจความสมบูรณ์ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจจับความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจได้อย่างละเอียด และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. จึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ ว่ามีกราฟคลื่นหัวใจผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะเมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะต้องการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น

> กลับสารบัญ


วิธีการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ


จี้ไฟฟ้าหัวใจ จี้ไฟฟ้าหัวใจ

โดยปกติโรคหัวใจจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามแต่อาการที่เป็น เช่น บายพาส หรือ บอลลูนหัวใจ ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน ส่วนการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น สามารถทำได้ดังนี้

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาเบื้องต้น ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยในบางรายที่อาการยังเป็นไม่มาก คือ ยังไม่ได้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เกิดอาการของหัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด จะมีแค่ใจสั่น ๆ เป็นบางเวลา แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือชากาแฟ ควบคุมความเครียดและลดการกังวล


2. การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ

การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจจะต้องใช้ยาเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจร่วมด้วย เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (betablocker)


3. การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามารักษา

  • การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา จะกระทำได้โดยการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ ไปยังตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แล้วทำการจี้รักษาโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหลังจากทำเสร็จ หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นการฝังอุปกรณ์เข้าไปในผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยเครื่องจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอ ที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้มากเพียงพอ จะใช้การรักษานี้ในกรณีที่มีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ
  • การฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) การใส่เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วยในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation

> กลับสารบัญ


วิธีป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยการปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพโดยรวม ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนไร้มัน และไขมันดี ลดอาหารที่มีเกลือ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์สูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • งดสูบบุหรี่ จำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • จัดการความเครียดและนอนหลับให้เพียงพอ
  • ดูแลโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไทรอยด์ เพราะโรคเหล่านี้มีผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจสุขภาพสามารถช่วยให้ตรวจพบและจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

> กลับสารบัญ


หัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาที่ไหนดี?

หากมีอาการที่เข้าขายหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งทางศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธนพร้อมดูแลทุกปัญหาสุขภาพหัวใจของคุณแบบครบวงจร ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ และพยาบาลที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึง ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ห้องผ่าตัด และห้องพักผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจที่ได้มาตรฐาน จึงมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาและดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

> กลับสารบัญ


หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้ทัน รักษาได้

ถ้าคุณมีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธน พร้อมดูแลทุกปัญหาสุขภาพหัวใจ ทั้งการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการให้คำแนะนำปรึกษาในการป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การดูแลสุขภาพองค์รวมและการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

> กลับสารบัญ


ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:

  1. - Website : https://www.nakornthon.com
  2. - Facebook : Nakornthon Hospital
  3. - Line : @nakornthon
  4. - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย