ไขทุกข้อสงสัย คลายทุกความกังวล กับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง

ศูนย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย

บทความโดย : พญ. ณัชชา นิมมานสถิต

ไขทุกข้อสงสัย คลายทุกความกังวล กับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง

หลายๆ คนอาจมีคำถาม และข้อสงสัยว่าแค่มีอาการท้องอืด ปวดท้องหลังกินข้าว หรือปวดท้องเรื้อรังเท่านั้น ทำไมต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT Scan) ไม่ตรวจได้ไหม? ตรวจแล้วบ่งบอกอะไร? ดีแค่ไหน? ขั้นตอนยุ่งยากหรือเปล่า? เพื่อไขทุกข้อสงสัยให้คุณคลายความกังวล เรารวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว


รู้จัก...CT Scan

CT Scan (Computerized Tomography) เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยการปล่อย X-Ray ผ่านส่วนที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพ 3 มิติ โดยใช้เวลาการตรวจไม่นานประมาณ 10-15 นาที ขึ้นกับส่วนที่ตรวจหรือโรคที่สงสัย


ทำไมต้องตรวจภายในช่องท้องด้วย CT Scan

การตรวจวินิจฉัยโรคในช่องท้องด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะสามารถมองเห็นส่วนที่ต้องการตรวจได้ชัดเจน โดยให้ภาพที่มีความละเอียดสูง รวมถึง CT Scan มีความสำคัญในการติดตามการรักษาโรคอีกด้วย

CT Scan ช่องท้อง แบ่งเป็น

  • ตรวจช่องท้องส่วนบน ใช้เพื่อตรวจดูอวัยวะที่อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบน ได้แก่ ตับ ถุง/ท่อน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไต ลำไส้บางส่วน และเส้นเลือด ความผิดปกติที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ เช่น การตรวจนิ่วในไตและท่อไต ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน ไส้ติ่งอักเสบ ฝีในช่องท้อง เป็นต้น
  • ตรวจช่องท้องส่วนล่าง ใช้เพื่อตรวจดูอวัยวะที่อยู่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ ท่อไตส่วนล่าง กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ มดลูก ต่อมลูกหมาก ลำไส้ส่วนล่าง ความผิดปกติที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น

เครื่อง CT Scan


ใครที่ควรมาตรวจ CT Scan ช่องท้อง?

เช่น ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด การถ่ายอุจจาระมีความผิดปกติ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย มีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธี CT Scan นั้น ผู้ป่วยจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจ โดยจะขึ้นกับแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้เลือกการตรวจที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ


ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน

ขั้นตอนของการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้น มีดังนี้

  1. ผู้ที่มารับการตรวจช่องท้องต้องงดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง (ขึ้นกับส่วนที่จะตรวจ) ก่อนทำการตรวจ และอาจมีการให้สารทึบรังสี โดยการรับประทานหรือสวนทวาร ร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือด เพื่อช่วยให้เห็นส่วนที่ตรวจได้เห็นชัดเจนขึ้น
  2. เจ้าหน้าที่/นักรังสีเทคนิค จะทำการซักประวัติผู้รับการตรวจ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวขณะตรวจ รวมถึงชี้แจงข้อมูลที่ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องทราบเกี่ยวกับการตรวจ เช่น ผลของสารทึบรังสี ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นขณะที่รับสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกาย
  3. ผู้รับการตรวจต้องนอนราบลงบนเตียงของเครื่องสแกน เตียงจะถูกเคลื่อนเข้าไปภายในเครื่อง ให้บริเวณที่ต้องการจะสแกนอยู่ตรงกับวงแหวนสแกน และเครื่องจะเริ่มทำการสแกนด้วยการหมุนเพื่อฉายรังสีเอกซเรย์ไปรอบๆ ตัวผู้รับการตรวจ

ข้อควรระวัง

เนื่องจากการตรวจ CT scan ในช่องท้องจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี ซึ่งมีข้อควรระวังในผู้ป่วยโรคไต โรคหอบหืด การใช้ยาบางชนิด หรือมีประวัติแพ้สารทึบรังสี สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ในวันที่มาทำการนัดหมายหรือก่อนการตรวจ โดยแพทย์ก็จะทำการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนทำการตรวจให้เหมาะสม


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย