ทำความเข้าใจ เข้าอุโมงค์ MRI ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ศูนย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย

บทความโดย : พญ. ชมสิริ เสกสรรค์วิริยะ

ทำความเข้าใจ เข้าอุโมงค์ MRI ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อแพทย์เสนอการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่อง MRI หลากหลายคำถามคงผุดขึ้นมามากมาย ว่าการตรวจด้วยเครื่อง MRI มันจะมีอันตรายไหม? ต้องเตรียมตัวอย่างไร? ใช้เวลาการตรวจนานแค่ไหน? ต้องเข้าอุโมงค์ที่แคบๆ น่ากลัวหรือเปล่า? เพื่อไขข้อสงสัยกับคำถามมากมายเหล่านี้ เรารวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านแล้วค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่าการตรวจ MRI ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดไว้อย่างแน่นอน


ทำความเข้าใจการตรวจด้วยเครื่อง MRI

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) หรือ เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากันก่อน เครื่องนี้จะมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ เป็นเครื่องตรวจร่างกายที่ทำงานโดยการสร้างภาพเหมือนจริง โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยส่งคลื่นความถี่วิทยุเข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ แล้วนำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ภาพอวัยวะในร่างกายที่มีความคมชัด สามารถแยกเนื้อเยื่อของร่างกายที่ปกติและผิดปกติออกจากกันได้ สามารถตรวจได้ทั้งร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง ไขสันหลัง หัวใจ กระดูก-กล้ามเนื้อ-ข้อ ช่องท้องและระบบทางเดินอาหารได้ เป็นต้น


ตรวจ MRI


ก่อนตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร

การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ถูกตรวจจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ และไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง ในด้านการเตรียมตัวนั้นก็ไม่ยุ่งยากซึ่งการเตรียมตัวก่อนตรวจด้วยเครื่อง MRI มีดังนี้

  1. ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือยาใดๆ ยกเว้นในบางรายที่อาจต้องอดอาหารและน้ำก่อนการสแกนล่วงหน้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง เช่น การต้องทานยานอนหลับ ยาสลบ หรือ กรณีตรวจอวัยวะในช่องท้องหรือตรวจระบบทางเดินน้ำดี
  2. ก่อนเข้าตรวจให้เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะเครื่องหล่อด้วยความเย็นตลอดเวลา ในห้องตรวจจะเย็นมาก
  3. ในการตรวจจำเป็นต้องนอนนิ่งเป็นเวลานานพอสมควร ผู้รับการตรวจเพียงแต่ทำใจให้สงบ นอนให้สบาย ไม่ต้องกลัว
  4. ควรงดการแต่งหน้าในวันมาตรวจ อาทิ การทาอายแชโดว์ และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพและความร้อนบนใบหน้าได้
  5. ผู้รับการตรวจต้องถอดเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์โลหะที่ถอดออกได้ไว้ภายนอก อาทิ สร้อยคอ แหวน ต่างหู นาฬิกา เป็นต้น
  6. ระหว่างการตรวจจะต้องไม่ขยับ หรือเคลื่อนไหวส่วนที่ตรวจ เพื่อให้ได้ภาพชัดเจน

ตรวจ MRI


การตรวจด้วยเครื่อง MRI ใช้เวลานานเท่าไหร่

โดยการตรวจด้วยเครื่อง MRI นั้น ผู้รับการตรวจจะต้องนอนนิ่งๆ ในอุโมงค์ โดยระยะเวลาในการตรวจขึ้นอยู่กับอวัยวะที่จะตรวจ เฉลี่ยประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังขึ้นกับ รอยโรคที่สงสัย และความร่วมมือของผู้ที่รับการตรวจด้วย เช่น การตรวจเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อสมองโดยรวม จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที แต่ถ้าต้องการตรวจดูหลอดเลือดด้วย เวลาที่ใช้ในการตรวจ ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก กรณีที่ตรวจเพื่อดูความผิดปกติของส่วนช่องท้อง จะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที เป็นต้น


ต้องเข้าอุโมงค์ กลัวที่แคบสามารถตรวจได้ไหม

ด้วยการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยจะต้องเข้าไปในเครื่องที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ โดยก่อนตรวจจะทำการสอบถามซักประวัติและประเมินความกลัวที่แคบก่อนว่ามากน้อยเพียงใด ถ้าท่านทราบมาก่อนว่ากลัวที่แคบ ควรแจ้งให้ทราบในวันที่นัดตรวจ เพื่อจะได้ประเมินการเตรียมตัวให้ โดยก่อนตรวจเจ้าหน้าที่จะอธิบายลักษณะการตรวจ พร้อมให้ดูเครื่องและฟังเสียงการทำงานของเครื่อง ทั้งนี้ขณะทำการตรวจยังสามารถติดต่อกับผู้ทำการตรวจภายนอกได้ตลอดเวลา และให้ญาติอยู่ภายในห้องตรวจได้ด้วย หากกรณีที่ผู้รับการตรวจมีความกลัวมากจนไม่สามารถจะตรวจได้ แพทย์จะให้ทานยาคลายเครียด หรืออาจจะต้องได้รับยานอนหลับ หรือยาสลบก่อนตรวจ


ถ้ามีปัญหาระหว่างตรวจต้องทำอย่างไร

ขณะตรวจอยู่ หากผู้รับการตรวจรู้สึกผิดปกติหรือมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ไอ จาม หรือสำลัก สามารถบีบลูกยางฉุกเฉินที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เพื่อหยุดตรวจชั่วคราวได้ ในขณะที่ท่านทำการตรวจอยู่ในเครื่องจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาขัดข้องอะไร ท่านสามารถบอกได้โดยผ่านไมโครโฟนที่อยู่ภายในเครื่อง นอกจากนี้ระหว่างการตรวจเครื่องจะมีเสียงดังเป็นระยะๆ ไม่ต้องกลัว เพราะจะมีฟองน้ำหรือหูฟังอุดหูเพื่อลดเสียงให้


ใส่เหล็กดัดฟัน หรือมีโลหะในร่างกายสามารถตรวจได้ไหม

การตรวจด้วยเครื่อง MRI มีข้อพึงระวังหรือสิ่งต้องห้ามในการเข้าตรวจอยู่ สำหรับผู้ที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย อาทิ ผู้ผ่าตัดที่มีคลิปหนีบหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ผู้ที่ผ่าใส่ประสาทหูเทียม อาจเข้าตรวจไม่ได้ โดยก่อนตรวจท่านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบในวันที่นัดตรวจก่อน เพื่อแยกประเภทของโลหะ ว่าเป็นชนิดที่เข้าสนามแม่เหล็กได้หรือไม่ รวมทั้งตำตำแหน่งที่ตรวจว่ามีการรบกวนของโลหะในการถ่ายภาพหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย