การดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมที่คนในครอบครัวควรรู้
ศูนย์ : ศูนย์อายุรกรรม, คลินิกผู้สูงอายุ
บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และผู้สูงอายุติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ใครมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยยิ่งต้องให้ความสำคัญ และต้องเอาใจใส่สังเกตทั้งเรื่องสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนในครอบครัวต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ ของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ผู้สูงอายุติดบ้าน เป็นผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้ ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่จะมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีความลำบากหรือติดขัดในการเคลื่อนไหว เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมสมรรถภาพตามอายุ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพที่มีโรคประจำตัว การดูแลจะมุ่งเน้นไปในด้านของสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ดังนี้
1. การดูแลสุขภาพทางร่างกาย
- ด้านอาหาร ผู้สูงอายุต้องได้รับอาหารอย่างเหมาะสม หลากหลายครบ 5 หมู่ ได้สัดส่วนเพียงพอ เนื่องจากมีกิจกรรมที่ทำได้ไม่มากส่งผลให้แต่ละวันใช้พลังงานลดน้อยลง และควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา และเพิ่มแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหวานจัด เค็มจัด อาหารประเภทผัด ทอด และควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบแทน
- ด้านการออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ยืดเหยียด รำไทเก็ก รำไม้พลอง โยคะ เดินเร็ว ว่ายน้ำ เป็นต้น ทำประมาณ 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ การบริหารร่างกายให้ได้ครบทุกส่วนของร่างกาย จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น
- ด้านสุขอนามัย ผู้สูงอายุควรลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ผู้ดูแลหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ พร้อมสังเกตการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบขับถ่าย และพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
2. การดูแลสุขภาพจิตใจ
การที่ผู้สูงอายุจะต้องอยู่ติดบ้าน จะทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ง่าย ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องคอยรับฟัง และให้คำปรึกษาให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึกต่างๆ และหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือให้ผู้สูงอายุได้พบปะเพื่อนฝูง ในวัยเดียวกัน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสนใจหรืออยากทำ
3. การป้องกันอุบัติเหตุและอันตราย
ผู้สูงอายุที่มีความลำบากหรือติดขัดในการเคลื่อนไหว ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องระวังในเรื่องของการผลัด ตก หก ล้ม ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพที่ถูกต้องเหมาะสม มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างพอเหมาะ มีความปลอดภัย พื้นต้องไม่ลื่น มีราวจับเพื่อช่วยในการทรงตัว โดยเฉพาะสถานที่ที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว บริเวณบันไดขึ้น-ลง เป็นต้น
การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ผู้สูงอายุติดเตียง คือ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเกิดการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังที่เข้าสู่การลุกลามมากขึ้น จนส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งบางคนอาจจะสามารถขยับแขนหรือขาได้บ้าง แต่ยังต้องมีคนช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง เช่น การป้อนอาหาร ช่วยล้างหน้าแปรงฟัน ช่วยอาบน้ำ เป็นต้น ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ด้วย คนในครอบครัวจะต้องสละเวลาส่วนใหญ่มาคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงเหล่านี้ เพราะต้องได้รับการดูแลมากกว่าปกติ ทั้งทางด้านร่างกาย และสภาพจิตใจ
โดยหลักการดูแลนั้น ผู้ดูแลจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องแผลกดทับโดยการหมั่นพลิกตัว เปลี่ยนท่านอนของผู้สูงอายุทุกๆ 2 ชั่วโมง การขับถ่าย ควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดและความเปียกชื้น การดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อของแผล ด้านอาหารควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ลดภาวะท้องอืดและท้องผูก และมีสารอาหารที่ผู้สูงอายุต้องได้รับอย่างครบถ้วน การทำกายภาพบำบัดของผู้สูงอายุที่ต้องนอนติดเตียงให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต่อต่างๆ ติดขัด
รวมไปถึงการดูแลด้านอารมณ์และด้านจิตใจ เพราะผู้สูงอายุที่ติดเตียงมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย มีความวิตกกังวล กลัวถูกทอดทิ้ง คิดมากเรื่องในอดีต กังวลเรื่องสุขภาพร่างกายที่ถดถอยลงไม่เหมือนเดิม รวมถึงโรคที่เป็นอยู่ จึงต้องการการดูแล และเอาใจใส่จากคนในครอบครัวเป็นพิเศษ เช่น การเข้าไปพูดคุย นำเรื่องไปเล่าให้ฟัง ไปขอคำแนะนำปรึกษาในเรื่องการดุแลบุตรหลาน เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การหากิจกรรมทำร่วมกันทั้งครอบครัว เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแลผู้สูงอายุให้ประสบความสำเร็จได้นั้น คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย ควรพยายามเข้าหาผู้สูงอายุให้มากขึ้น หาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน และเข้าใจถึงธรรมชาติของวัยผู้สูงอายุ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อายุรกรรม, คลินิกผู้สูงอายุ