“ตับแข็ง” ตัวการร้ายทำลายตับ

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

“ตับแข็ง” ตัวการร้ายทำลายตับ

นอกจากเรื่องของไขมันพอกตับ ยังมีเรื่องสาเหตุอื่นที่ทำให้ตับแข็ง ซึ่งที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และแอลกอฮอล์ หรือการดื่มเหล้า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโรคตับแข็ง เมื่อเกิดตับแข็งก็จะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้ โดยคนที่เป็นตับแข็งในช่วงแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการเท่าใดนัก เพราะตับถือว่าเป็นอวัยวะใหญ่ที่สุดในร่างกาย หากจะเริ่มมีอาการตับแข็งให้เห็น ตับต้องเสียไปเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว


ผู้ที่เป็นตับแข็งมีอาการอย่างไร

ตับแข็ง เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายจากหลายสาเหตุต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดในเนื้อตับ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

สำหรับผู้ที่เป็นตับแข็ง จะมีอาการดังนี้ อาการท้องมาน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ตาเหลือง ตัวเหลือง ผอม แต่พุงโล ในผู้ชายก็อาจจะมีอาการขนตามตัวร่วง ตรวจร่างกายก็จะพบว่า ตาเหลือง ตัวเหลือง มีนิ้วปุ้ม มีเส้นเลือดขยายตัวที่หน้าอกหรือตามหัวไหล่ เหมือนเป็นเส้นใยแมงมุม เป็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆ บางคนก็มีน้ำในท้อง ซึ่งมีโอกาสที่จะติดเชื้อง่าย บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อาเจียนเป็นเลือด

> กลับสารบัญ


ปัจจัยเสี่ยงตับแข็ง

สาเหตุหลักที่ทำให้ตับแข็ง คือ ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนอาจกลายเป็นตับแข็งได้ รวมไปถึงการเป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • โรคเนื้อเยื่อสะสมธาตุเหล็กผิดปกติ
  • โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากการมีการสะสมทองแดงมากเกินไปในตับ
  • ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับส่งผลทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้
  • การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การได้รับสารพิษบางชนิด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้งติดต่อกัน

> กลับสารบัญ


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีโอกาสเป็นตับแข็งหรือไม่

ต้องมาตรวจว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นตับแข็งหรือไม่อย่างไร เช่น มีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ ดื่มเหล้าประจำหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยระยะแรกๆ จะไม่มีอาการใดๆ โดยมักตรวจพบ หรือทราบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น มีค่าตับผิดปกติ ตรวจพบว่ามีไวรัสตับอักเสบบี มีไวรัสตับอักเสบซี หรือ มีไขมันพอกตับ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้มีโอกาสพัฒนาเป็นตับแข็งได้ อย่างไรก็ตามหากจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจต้องคอยหมั่นตรวจเช็คตับเป็นระยะ รวมถึงการอัลตราซาวด์ตับเป็นระยะๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้เฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ

> กลับสารบัญ


ตรวจพังผืดในตับด้วย "ไฟโบรสแกน"

ปัจจุบันมีการตรวจพังผืดในตับ เพื่อตรวจภาวะตับแข็งที่ชัดเจนมากขึ้น หรือที่เรียกว่า "ไฟโบรสแกน" (Fibro Scan)ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีใช้มาไม่นานนี้ ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนที่ช่วยวินิจฉัยภาวะตับแข็ง และช่วยดูในเรื่องไขมันในตับได้ด้วย สมัยก่อนหากจะดูว่าตับแข็งรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะต้องใช้วิธีการเจาะเนื้อตับออกมาดู โดยใช้เข็มเจาะเนื้อตับออกมา เพื่อให้แพทย์อ่านชิ้นเนื้อตับ และดูว่ามีตับแข็งรุนแรงเพียงใด แต่ทว่าเจาะชิ้นเนื้อตับมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงมีการใช้เครื่องมือไฟโบรสแกนมาทดแทน ซึ่งมีความปลอดภัยขึ้น ได้ผลดีน่าเชื่อถือ

> กลับสารบัญ


การรักษาตับแข็ง

ในกรณีที่ยังไม่มีภาวะตับแข็ง แต่เป็นอักเสบเรื้อรังระยะต้น หรือเป็นตับแข็งระยะแรก ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เช่น หยุดดื่มเหล้า หันมาออกกำลังกายและควบคุมอาหาร หากเป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ควรเข้ารับการรักษา ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะตับแข็งได้ นอกจากป้องกันไม่ให้ตับแข็งเป็นมากขึ้น ดังนี้

  1. ผู้ป่วยตับแข็งทุกรายควรได้รับการตรวจภูมิคุ้นต่อไวรัสตับอักเสบเอและบี และควรได้รับการฉีดวัคซีนหากผู้ป่วยยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว
  2. ผู้ป่วยตับแข็งควรได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารครบถ้วน โปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม
  3. หากมีอาการบวมที่ข้อเท้าและท้อง ควรจำกัดเกลือและอาหารรสเค็ม
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเล
  5. พบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

> กลับสารบัญ


เมื่อเกิดตับแข็ง ตับไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ดีซ่าน ท้องมาน สับสน เลือดออกง่าย เส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร ตับวาย มะเร็งตับและเสียชีวิต เช่นนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นตับแข็งได้




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย