ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG)

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพสตรี

บทความโดย : พญ. สังวาลย์ เตชะพงศธร

ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG)

คำถามที่พบบ่อยกรณีคนไข้ประจำเดือนขาด ไม่มาตามรอบปกติ โดยข้อกังวลที่พบคือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์รึเปล่า? เมื่อเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ก็ต้องตรวจครรภ์โดยสามารถรู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนได้ผ่านการใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ แต่ถึงแม้จะทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วพบว่าตั้งครรภ์ก็ตาม แต่คุณผู้หญิงก็ควรจะไปพบแพทย์ด้วยการตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือดเพื่อดูค่าฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ให้แน่ใจว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

ทั้งนี้มีข้อสังเกตสำหรับคุณผู้หญิงว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ด้วย 2 วิธี ได้แก่


1. อาการบ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ (อาการแพ้ท้องแรกเริ่ม)

  • ประจำเดือนขาด คือ การที่ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด
  • รู้สึกไม่สบายหรือกำลังป่วย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากมีความรู้สึกไวต่อกลิ่นต่างๆ โดยเฉพาะกลิ่นของอาหาร
  • มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทรวงอก บางครั้งหน้าอกอาจใหญ่ขึ้นหรือหัวนมอาจดำคล้ำ
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะการตั้งครรภ์ในช่วงแรกๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ปัสสาวะบ่อย เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้เลือดไหลผ่านไปยังไตมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะจึงรับน้ำมากขึ้นด้วย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นลักษณะอาการที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีใจ เสียใจ หดหู่ หรือกังวล ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • เหนื่อยง่าย เพลีย อยากนอนมากขึ้น อาการเหล่านี้มักเกิดจากระดับฮอรโมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยให้หลับสบายนั่นเอง


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

2. การตรวจครรภ์หาค่าฮอร์โมนเอชซีจี (hCG)

การตรวจการตั้งครรภ์ใช้หลักการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกิดจากตัวรกหลังการปฏิสนธิ 6 วันขึ้นไป โดยระดับปริมาณฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) บ่งบอกการตั้งครรภ์และอายุครรภ์คร่าวๆ ได้ ฮอร์โมนนี้มีความยาวของกรดอะมิโน 237 ตัว ชุดน้ำยาในที่ตรวจครรภ์ อ่านผลได้จากการดักจับฮอร์โมนเอชซีจี ส่วนวิธีการตรวจตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ จะใช้ชุดน้ำยาตรวจสอบที่จับส่วนประกอบย่อยของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ที่มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

  • อัลฟ่า เอชซีจี (Alpha Subunit หรือ Alpha-hCG) มีความยาวของกรดอะมิโน 92 ตัว
  • เบต้า เอชซีจี (Beta Subunit หรือ Beta-hCG) มีความยาวของกรดอะมิโน 145 ตัว

ทั้งนี้มีวิธีการตรวจสอบได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

2.1 การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง โดยอุปกรณ์ตรวจครรภ์ หรือ ที่ตรวจครรภ์ ซึ่งการแสดงผลการตรวจของ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ จะแสดงเป็น แถบขีดสี (ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง) ถ้าขึ้นว่า 2 ขีด (ขึ้นที่ขีด C และ T) คือ ผลบวก แสดงว่า มีโอกาสตั้งครรภ์ และ ขีดเดียว (ขึ้นที่ขีด C เพียงอย่างเดียว) คือ ผลลบ แสดงว่า ไม่ตั้งครรภ์ หากตรวจแล้วไม่มีขีดใดขึ้นเลย แสดงว่าที่ตรวจครรภ์เสีย หมดอายุ หรือเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ ต้องตรวจใหม่อีกครั้ง โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • แบบปัสสาวะแบบปล่อยผ่าน อุปกรณ์เป็นแบบแท่งตรวจครรภ์ วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที
  • แบบหยด หรือแบบตลับ ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ
  • แบบแถบจุ่ม ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวงเก็บปัสสาวะ วิธีการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวงทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ

อย่างไรก็ตามการตรวจครรภ์ด้วยวิธีนี้จะไม่สามารถให้ผลได้ 100% ซึ่งอาจเกิดผลลบลวง หรือ ผลบวกลวงได้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ที่แม่นยำกว่า


2.2 การตรวจครรภ์ด้วยแพทย์ จะเป็นการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการตั้งครรภ์เป็นวิธีตรวจฮอร์โมน hCG และยืนยันผลโดยนักเทคนิคการแพทย์ ด้วยวิธีการตรวจจากฮอร์โมน Beta-hCG ซึ่งจะทราบผลหลังจากปฏิสนธิ ใช้เวลารอฟังผล 1-2 ชั่วโมง ซึ่งผลการตรวจจะสามารถบ่งบอกการตั้งครรภ์ได้แน่นอนถึง 100% ทั้งนี้การตรวจครรภ์วิธีนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจให้รู้แน่ชัดโดยไว เช่น ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือมีประวัติแท้งบุตร ต้องการข้อมูลเพื่อวางแผนการดูแล ให้ฮอร์โมนเสริมต่างๆ เพื่อป้องกันการแท้งบุตร เป็นต้น

เมื่อมาพบแพทย์ เบื้องต้นจะทำการซักถามประวัติข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ต้องการรับการตรวจ เช่น เวลาของประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย อาการที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเกิดการตั้งครรภ์ เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปัสสาวะบ่อย เต้านมคัด หรือความผิดปกติของประจำเดือน เป็นต้น ร่วมด้วยเพื่อให้การวินิจฉัยตรงไปตรงมาและมีความแม่นยำมากที่สุด


ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เมื่อทราบแล้วว่าตั้งครรภ์ ขั้นตอนต่อไป คือ การฝากครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องตรวจสุขภาพด้วยการเจาะเลือดตรวจโดยแพทย์ก่อน ได้แก่ ตรวจความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC) และตรวจคัดกรองหมู่เลือด (ABO), การตรวจหากลุ่มเลือด Rh เป็นการตรวจว่าเลือดคุณพ่อและคุณแม่มี Rh เป็นอย่างไร, ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ตรวจหาเชื้อฟิซิลิส (VDRL) ตรวจหาเชื้อไวรัส (HIV) ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg), ตรวจหาภูมิไวรัสตับอักเสบบี (HBsAb), ตรวจหาธาลัสซีเมีย (Hb typing) หากคุณเป็นโรคโลหิตจางแพทย์จะส่งตรวจว่าคุณเป็นโรคธัลลาสซีเมียหรือไม่ เพื่อป้องกันเด็กในครรภ์, ตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (Rubella IgG) หากไม่มีภูมิต้องฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์, ตรวจปัสสาวะ (Urine Analysis) และ ตรวจคัดกรองเบาหวาน (GCT 50 gm) เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด ปกติคนท้องมักจะมีระดับน้ำตาลไม่เกิน 90 มก% หากสูงจะต้องส่งตรวจเพื่อให้ทราบว่าเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

ซึ่งการตรวจเหล่านี้เพื่อป้องกันภาวะต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ พร้อมทั้งการวางแผนการดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ในระยะต่อไป พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง การปฏิบัติตัวต่างๆ ในช่วงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตามการตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ ต้องทำในตอนเช้า เนื่องจากปัสสาวะจะมีความเข้มข้นสูงสุดของฮอร์โมนในเวลานี้ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปไว้ล่วงหน้า เพราะจะทำให้ระดับ hCG ในปัสสาวะของคุณลดลง ทั้งนี้โปรดพบแพทย์ทันทีที่คุณคิดว่าคุณตั้งครรภ์ ไม่ว่าคุณจะทำการทดสอบการตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ก็ตาม และหากคุณพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ คุณควรเริ่มต้นการฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย